ข่าวปนคน คนปนข่าว
**กทม.ยุค “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” เลิกแบ่งเขาแบ่งเรา เดินหน้าทำงาน คิดถึงคนกรุงเทพฯ ไม่คิดถึงพรรค
ตอกย้ำมุมมองของนักวิชาการ และคอการเมืองหลายๆ คนที่วิเคราะห์กันว่า ชัยชนะแบบถล่มทลายของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คนกรุงรอคอย นั่นคือ การเมืองสายกลาง ที่ผู้ชนะไม่วางตัวอยู่บนคู่ขัดแย้งกับใคร แต่จะเดินหน้าเพื่อร่วมทำงานกับทุกฝ่ายอย่างมีเหตุมีผล
เมื่อวานนี้ เซเลบคนบันเทิงอย่าง “อั๋น ภูวนาท” ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมามักแสดงความเห็นไปในทาง “ไม่เอาลุงตู่” มาตลอด ก็ได้ออกมาโพสต์ให้มุมมองต่อชัยชนะของ “ชัชชาติ” ว่า “ไม่ใช่แค่ชัยชนะ…แต่คือความหวังของประชาชน หมดเวลาแบ่งเขาแบ่งเรา จากนี้ทุกคนกลับมารวมกัน ด้วยจุดหมายเดียวกัน คือ ทำเพื่อบ้านเมือง ประชาชน ประเทศชาติ วางทุกการแข่งขัน ลบทุกอคติที่มีออกไปจากใจ เลิก “ไม่เลือกเราเขามาแน่” แล้วเนอะ เพราะเขามาแล้ว ชนะทุกเขต ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอายุ”
“จากนี้ มาช่วยกันด้วยกันนะครับทุกคน ถ้ากรุงเทพฯดี มันก็ดีด้วยกัน เช่นเดียวกันกับพัทยา และประเทศไทย”
อาจมีบางคนสงสัยว่า ในเมื่อ “ชัชชาติ” ไม่ได้อยู่ในขั้วการเมืองเดียวกับรัฐบาล แล้วจะร่วมมือกันทำงานเพื่อนบ้านเมืองอย่างไร ในเรื่องนี้ “เดชรัต สุขกำเนิด” อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ในสายนักวิชาการไม่เอาทหาร ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นรัฐบาลทำงานร่วมนักการเมืองเพื่อประชาชนได้แม้อยู่ต่างขั้วต่างพรรค โดยได้ยกต้นแบบมาจากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีการสร้างฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองต่อปัญหาบ้านเมืองเป็นรายประเด็น เช่น (ก) สมรสเท่าเทียม (ข) สุราเสรี (ค) สวัสดิการถ้วนหน้า VS ความยากจนพุ่งเป้า (ง) พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
“ถ้าการเมืองไทยมีกลไกแบบนี้ พรรคการเมืองต่างๆ จะขยันทำงานนโยบายมากขึ้น และมีเวลาในการทำงานนโยบายมากขึ้น และสามารถทำงานนโยบายได้อย่างกว้างขวาง และเปิดเผย พร้อมๆ กับการลดทอนความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้าม/คู่แข่งไปด้วยในตัวบางทีกลไกแบบนี้ อาจเริ่มต้นในระดับกรุงเทพฯ ก็เป็นได้นะครับ” อ.เดชรัต ให้ความเห็น
ขณะที่ตัว “ชัชชาติ” ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การร่วมมือทำงานกับคนต่างพรรค เขาทำกันแบบไหน โดยได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาน้ำท่วมคลองลาดพร้าว บริเวณด้านหน้าวัดลาดพร้าว พร้อมกับ “วิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคก้าวไกล ตลอดจนว่าที่ ส.ก.จากพรรคก้าวไกล อีกหลายคน
“ชัชชาติ” ย้ำว่า “สุดท้ายเราต้องร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนในเขต ปัญหาไหนเกี่ยวข้องกับเขตไหน พรรคไหน ก็จะเชิญมาคุย เพราะ ส.ก. ในพื้นที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น หลักการพยายามให้เกียรติและคุยปัญหากัน
“ถึงอยู่คนละพรรคก็ต้องคุยกัน ข้ามฝั่งไปก็คนละเขตแล้ว กรุงเทพฯ เราเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่าทะเลาะกัน ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาทำงานโดยไม่คิดถึงพรรค แต่คิดถึงคนเป็นหลัก ต้องเดินหน้าทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ อย่างเข้มแข็ง”
ส่วน ส.ก.ที่ได้รับเลือกตั้งจากพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย “ชัชชาติ” ก็ยืนยันว่า พร้อมทำงานร่วมกันอยู่แล้ว พอดีที่มาคลองลาดพร้าวนี้ เกี่ยวข้องกับว่าที่ ส.ก. พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล แต่ช่วงเย็นจะลงพื้นที่เขตคลองเตย ก็จะมีผู้แทนว่าที่ ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ มาร่วมลงพื้นที่ด้วย
ขณะที่ “สุริยะใส กตะศิลา” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ได้วิเคราะห์ว่า คะแนนนิยมของ “ชัชชาติ” ที่มีผู้หย่อนบัตรให้ถึง 1.3 ล้านกว่าคะแนน สะท้อนว่า ความนิยมของตัวว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ไม่ได้มาจากขั้วใดขั้วหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นเพราะถ้าจะประเมินว่ามาจากพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะได้ไม่เกิน 8 แสนคะแนน เมื่อคิดคำนวณจากการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 62 ขณะที่คะแนนของพรรคก้าวไกลที่เคยได้ 8 แสนกว่า ในการเลือกตั้งปี 62
ส่วนคะแนนกว่า 800,000 คะแนน ของพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 62 วันนี้โหวตให้ “วิโรจน์” แค่ 2.5 แสนคะแนน กว่า 5 แสนคะแนนที่หายไป แน่นอนส่วนหนึ่งย้ายไปโหวตให้ “ชัชชาติ”
เช่นเดียวกันคะแนนนิยมของอีกปีก หรือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ก็ย้ายฐานไปที่ “ชัชชาติ” ไม่น้อยเหมือนกัน อิงจากคะแนนเลือกตั้งปี 62 พปชร. รวมกับ ปชป. มีกว่า 1.25 ล้านคะแนน แต่เมื่อรวมคะแนน “สุชัชวีร์ - สกลธี - อัศวิน” รวมประมาณ 7 แสนคะแนน หายไป 5 แสนคะแนน แน่นอนว่า บางส่วนย้ายไปโหวตให้ “ชัชชาติ”
จึงชัดเจนว่า ตัวตนของ “ชัชชาติ” ที่พยายามขายความเป็นอิสระ แม้มีข้อสงสัยของสังคมว่า ไม่ใช่อิสระจริง แต่ก็สงวนท่าที และวางท่วงทำนองได้อย่างมีระยะห่างพอสมควรจากพรรคเพื่อไทย จนสามารถรักษาความเป็นอิสระได้จนนาทีสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย
มุมวิเคราะห์ของ “สุริยะใส” ก็นับว่าน่าคิดไม่น้อย เพราะถ้าสังเกตให้ดี ผลโพลที่เลือก “ชัชชาติ” และนำโด่งมาตลอดม้วนเดียวจบนั้น สะท้อนอย่างที่ “สุริยะใส” วิเคราะห์เหมือนกัน คือ ตัวตนของ “ชัชชาติ” มีส่วนอย่างมากให้คะแนนออกมาเช่นนี้ หรือ ถ้าจะบอกว่า เป็น “ปรากฏการณ์ชัชชาติ” ก็คงไม่ผิด
ที่จริง ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านผลสำรวจความคิดเห็นเคยออกมากล่าวเอาไว้ทำนองเดียวกันว่า คนที่เลือก “ชัชชาติ” ไม่เกี่ยวกับเอาเผด็จการ ไม่เอาเผด็จการ หรือ เอารัฐบาลหรือไม่ เป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือเปล่า แต่คนที่เลือก “ชัชชาติ” เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. และนิยมในตัว “ชัชชาติ” เมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่น นั่นแสดงว่า คนกรุงเทพฯ เทใจให้ “ชัชชาติ” ตั้งแต่แรกแล้ว และก็ไม่เปลี่ยนใจจนวินาทีสุดท้าย
แต่ถ้าใครยังคิดอยู่ในกรอบการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าฝ่ายหนึ่งแพ้ แสดงว่า ประชาชนเลือกข้างฝ่ายตัวเองแล้ว ก็ไม่แน่ว่า คิดถูกหรือผิด วิเคราะห์ตื้นเขินไปหรือไม่
** “ลุงตู่” กัดฟันสู้ บอก “ชัชชาติ” แลนด์สไลด์ไม่เกี่ยวรัฐบาล ให้รอดูเลือกตั้งใหญ่
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ชัยชนะตกเป็นของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ แบบ “แลนด์สไลด์” คนกรุงไปเทคะแนนให้ กว่า 1.3 ล้านเสียง ถือว่าเป็นสถิติใหม่ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ประกอบกับผลเลือกตั้ง ส.ก. ที่พรรคเพื่อไทย ได้มา 19 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล 14 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 9 ที่นั่ง พรรคไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 2 ที่นั่ง กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 ที่นั่ง และอิสระ 2 ที่นั่ง
เห็นชัดว่า ฝ่ายที่นักวิเคราะห์มักเรียกว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายไม่เอารัฐบาล ชนะ ฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายรัฐบาล แบบขาดลอย ทั้งตัวผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.
และผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ถูกนำไปผูกโยงกับกับแสความนิยมรัฐบาล ผู้นำรัฐบาล หรือพูดให้ชัด ก็คือ “3 ลุง” รวมทั้งนำไปคาดการณ์ถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงด้วย
“พี่โทนี่” หรือ ทักษิณ ชินวัตร รีบออกมาให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ยังนับคะแนนไม่เสร็จ ว่าผลเลือกตั้งสะท้อนว่า ประชาชนจะสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพราะเบื่อที่ฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันไม่มีความสามารถ และจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติแน่นอน เพราะประชาชนเห็นว่า ยิ่งรัฐบาลอยู่นานเท่าไร ประชาชนยิ่งแย่ โอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะแบบแลนด์สไลด์ก็จะยิ่งสูงขึ้น เพราะคนเขาทนไม่ไหว ...ต่อให้ตุนกระสุนไปซื้อก็เอาไม่อยู่ !!
“ทั้ง 3 ลุงหมดสภาพ ทั้งอายุ บางคนสังขาร และการไม่เปิดรับโลกภายนอก ยิ่งอยู่ยิ่งพัง ถ้าเป็นผมเจอแบบนี้ มาตกลงกันดีกว่า เลือกตั้งเมื่อไหร่ดี ไม่ต้องรอเอเปค ไปไม่ถึงเอเปคหรอก...ถึงเวลาถอยให้บ้านเมืองเดินหน้าแล้ว อย่าไปเห็นแก่ตัวคิดว่าตัวเองสามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้”
เช่นเดียวกับ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็ออกมาซ้ำว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนว่าประชาชนมีความหวัง และกำลังต้องการความเปลี่ยนแปลง ปริมาณที่ท่วมท้นนี้ คือเสียงดังอันทรงพลังที่เราต้องฟัง และปฏิบัติตาม เพราะประชาชนได้พูดออกมาแล้ว...วันนี้พรรคเพื่อไทย จะขอเปลี่ยนแคมเปญใหญ่ของเราจาก “พรุ่งนี้เพื่อไทย” เป็น “วันนี้เพื่อไทย” เพื่อเป็นสัญญาณในการเริ่มเดินหน้า สร้างความหวังของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง
ขณะที่เสียงจากบรรดาลุงๆ โดยเฉพาะ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่แม้จะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ส่งผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขต ปรากฏว่า ได้มา 2 เขต เมื่อเจอนักข่าวถาม ก็ได้แต่รูดซิปปาก แล้วเดินเลี่ยงไป
ส่วน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งผู้สมัคร แต่ก็เป็นหัวหน้ารัฐบาล เมื่อถูกนำมาโยงก็อดไม่ได้ที่จะออกอาการหัวร้อน บอกกรุงเทพฯ ก็เป็นแค่จังหวัดหนึ่งเท่านั้น ความชอบของประชาชนก็เป็นไปตามกลไกของประชาธิปไตย ให้คอยดูเลือกตั้งสนามใหญ่แล้วกัน
...ผลคะแนนที่ออกมา ไม่เป็นการสะท้อนอะไรทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับเรตติ้งของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ... ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน เลือกหรือไม่เลือก ก็เป็นเรื่องของประชาชน ก็ดูต่อไปว่าเลือกมาแล้วมันจะทำอะไรให้ดีขึ้นไหม แต่ผมก็หวังว่าจะดีขึ้น...
เมื่อถามว่า ไม่เกี่ยวกับคะแนนนิยมของตัวนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ใครจะนิยมหรือไม่นิยม ผมก็ทำของผมเต็มที่นั่นแหละ โอเคนะ” เมื่อถามต่อว่า จะมีผลต่อการตัดสินใจของท่าน หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ก่อนเดินออกจากโพเดียมไปด้วยสีหน้าที่แสดงความไม่พอใจ
แน่นอนว่า เมื่อใกล้เลือกตั้งใหญ่ แล้วคนกรุงตัดสินใจเช่นนี้ พรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ย่อมไม่ละทิ้งโอกาสที่จะนำไปขยายผลในต่างจังหวัด เพื่อส่งแรงกดดันไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล
แต่ “ลุงตู่” คงนึกถึงคำพูดที่มักพูดกันว่า “คนกรุงล้มรัฐบาล แต่คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล”...ก็ต้องจับตาว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งจริงผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร