xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แลนด์สไลด์ เพื่อไทยจะฟัดก้าวไกล !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ - วิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์
เมืองไทย 360 องศา



ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะแบบแลนด์สไลด์ถล่มทลายม้วนเดียวจบ ทิ้งคู่แข่งขาดลอย ชนิดที่รวมคะแนนกันทุกคนแล้วยังสู้ไม่ได้เลย ดังนั้น นาทีนี้ทุกคนก็ต้องยอมรับผลในแบบศิโรราบ ไม่ต้องพูดกันเยอะ และอย่าได้แปลกใจที่มีแต่คนเข้ามาแสดงความยินดี

ขณะเดียวกัน สำหรับ นายชัชชาติ ที่กำลังจะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ คนที่ 17 อย่างเป็นทางการอีกไม่กี่อึดใจ ก็ต้องเจอกับแรงกดดันเหมือนกัน โดยเฉพาะกับ “ความคาดหวัง” จากสังคมรอบด้านหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะต้องไม่ลืมว่า เสียงโหวตที่ชาวบ้านในกรุงเทพฯ พร้อมใจกันเทให้มากว่า 1.3 ล้านคะแนน มากมายเป็นประวัติการณ์ ถือว่าไม่ธรรมดา

เพราะ “ความคาดหวัง” นี่แหละจะถือว่าเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า เขา “แกร่ง” จริง หรือแค่การสร้างภาพทางการตลาดให้คนคล้อยตามเท่านั้น และที่สำคัญ ปัญหาในกรุงเทพฯ ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่หมักหมมมานาน ที่แม้จะรู้ดี แต่มันแก้ยาก และที่มองข้ามไม่ได้เลย ก็คือ “อำนาจของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ” นั้น ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ไม่ได้มีมากมายอย่างที่เข้าใจกัน รวมไปถึงอำนาจในการบริหารงบประมาณ ที่ส่วนใหญ่แล้วยังต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องแก้ปัญหาระดับโครงสร้างมาตลอด

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่บวก ในเมื่อมีพลังประชาชนที่อยู่ข้างหลังกว่าล้านคน และเชื่อว่า ยังมีพลังหนุนจากทั่วประเทศจาก “กระแส” และท่าทีของนายชัชชาติ ก่อนหน้านี้ น่าจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้การทำงานของเขาในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ราบรื่นอย่างน้อยก็ในช่วงห้าถึงหกเดือนแรก เพราะเหมือนกับเป็นช่วง “ฮันนีมูน” ประเภทข้าวใหม่ปลามัน อะไรประมาณนั้น คงยังไม่มีใครกล้าขวางทางอย่างชัดเจนแน่นอน

แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็อาจประมาทไม่ได้เหมือนกัน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าพื้นที่เมืองหลวงนั้นไม่ธรรมดา ทั้งคนและปัญหาสารพัด ก้าวพลาดนิดเดียว เกมก็อาจพลิกไปอีกทางได้เหมือนกัน แต่นาทีนี้ก็ยังเชื่อว่า ด้วยบุคลิกที่ดูภายนอกแสดงออกมาให้เห็นว่าเขาเป็นนักประสานงานที่ดี ก็น่าจะผ่านไปได้ แม้ว่าพลันที่รับรู้ถึงชัยชนะ นายชัชชาติ กลับพูดจาคุยข่มแบบท้าทาย “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทันที ในทำนองว่า “เสียงที่ได้รับมาจากประชาชน มีมากกว่าเสียงสนับสนุนนายกฯ เสียอีก” ฟังดูแล้วบางทีมันก็อดคิดไม่ได้ว่ามันย้อนแย้งกับบุคลิกที่ผ่านมา

แม้ว่าหากมองในอีกมุมหนึ่ง มันก็อาจเป็นการระบายจากความกดดันที่เขาก็บอกเองว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้ว (22 พฤษภาคม) เขาถูกกระทำจากการรัฐประหาร ถูกคลุมหัวควบคุมตัว ซึ่งบางประเด็นก็อาจมองผ่านก็ได้ เพื่อไม่ให้ทำลายบรรยากาศแห่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของตัวเองก็ได้ แต่ไม่เป็นไร เอาเป็นว่านาทีนี้อะไรที่สามารถมองผ่านไปได้ก็ต้องผ่าน เพราะอาจจะทำลายช่วงเวลาแห่งความสุข และการเฉลิมฉลองไปเสียก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อทุกอย่างต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง และหนีความจริงไม่พ้น มันก็ช่วยไม่ได้ที่ต้องชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องย้ำให้เห็นภาพว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครผู้ว่าฯในนาม “อิสระ” และ “ไม่มีทีม ส.ก.” แต่ในทางพฤตินัย และในวงการรับรู้กันอยู่แล้วว่า มีทีม ส.ก.จากพรรคเพื่อไทย สนับสนุน และสังคมก็รับรู้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องสาธยายกันมาก และที่ผ่านมา เชื่อว่า คนที่ลงคะแนนให้กับเขา โดยเฉพาะฝั่งที่ไม่ใช่สาวกของพรรคเพื่อไทย ก็คงมองผ่านไปแล้ว ไม่เช่นนั้น ผลคะแนนจะไม่ออกมาแบบแลนด์สไลด์แบบนี้แน่นอน เพราะมั่นใจว่าหลายคนได้ย้ายข้ามฟากมาโหวตให้ในครั้งนี้อย่างน้อยก็เฉพาะกิจสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่พวกเขามองว่า “อยากเลือกคนนี้” นั่นแหละ

ขณะเดียวกัน เมื่อมองต่อเนื่องกันไปก็จะเห็น “ฐานเสียง” สำคัญที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเห็นว่า มีอยู่ “สองกลุ่มหลัก” คือ กลุ่มฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย (ที่หนุนนายชัชชาติ) และอีกกลุ่มคือ ฐานเสียงที่สนับสนุนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์ ผู้สมัครอีกคนหนึ่งจากพรรคก้าวไกล ที่มาเป็นอันดับสาม ได้ 253,938 คะแนน แน่นอนว่า กลุ่มหลังนี่จะมาจากกลุ่มของคนรุ่นใหม่ กลุ่มไม่เอาเจ้า รวมไปถึงอาจมาจากฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย ที่แตกตัวออกมา

ส่วนเสียงสนับสนุนผู้สมัครรายอื่น ที่แยกเอาเฉพาะที่มาจากขั้วตรงข้ามที่เห็นชัด เช่น “ดร.เอ้” นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นอันดับสอง ได้ 254,723 คะแนน นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ ได้ 230,534 คะแนน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ ได้ 214,805 คะแนน และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ ได้ 79,009 คะแนน จะเห็นได้ว่าแม้จะรวมคะแนนของพวกเขาเหล่านี้ก็ยังแพ้หลุดลุ่ย จนสามารถอนุมานได้ว่า คะแนนเสียงของอีกฝ่ายกระจัดกระจาย แม้จะบอกว่า “คะแนนตัดกันเอง” ก็อาจพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะอย่างที่บอกเมื่อรวมคะแนนกันแล้วยังแพ้ขาดลอยนั่นเอง

หากพิจารณาให้เห็นภาพมากขึ้นไปอีก ก็ต้องโฟกัสไปที่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ชนะไป 19 คน ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ได้ไป 14 ที่นั่ง ส่วนผู้สมัครจากพรรคอื่น และกลุ่มอิสระต่างๆ ได้ไปแบบเบี้ยหัวแตกไม่กี่ที่นั่ง เช่น ประชาธิปัตย์ ได้ไป 9 ที่นั่ง กลุ่มรักษ์กรุงเทพ (พล.ต.อ.อัศวิน) พรรคพลังประชารัฐ ได้ 2 ที่นั่ง พรรคไทยสร้างไทย ได้ 2 ที่นั่ง และกลุ่มอิสระอื่นๆ อีก 2 ที่นั่ง

ดังนั้น จากตัวเลขที่เห็นก็ชัดเจนว่า กลุ่มฐานเสียงหลักจะเป็นการแข่งขันกันสองกลุ่มหลัก นั่นคือ กลุ่มเพื่อไทย กับกลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกล เป็นหลัก ซึ่งกลุ่มแรก คือ พรรคเพื่อไทย ก็อย่างที่รู้กันในทางพฤตินัยแล้วว่าเป็นฐานสนับสนุนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการทำงานเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั่นเอง และล่าสุด หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย สนับสนุนและทำงานร่วมกับ นายชัชชาติ

และจากตัวเลขดังกล่าว ทำให้พอมองเห็นถึง “แนวโน้ม” ได้เช่นกันว่า ต่อไปจะเป็นการ “แข่งขัน” ขับเคี่ยวกันแบบดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็ “เบียด” กันมาแทบจะตัวลีบอยู่แล้ว แต่คราวนี้ภาพชัดเจนขึ้นมาอีก อีกด้านหนึ่งอาจก้าวข้ามพรรคฝ่ายรัฐบาล หรือขั้วตรงข้าม หรือแม้แต่ “สาม ป.สามลุง” ไปแล้วก็ได้

แม้ว่านาทีนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้ นอกเหนือจากการที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะต้องเจอแรงกดดันจาก “ความคาดหวัง” รุนแรงแล้ว ยังมีภาพของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวทาบทับ และรอ “เคลม” ผลงานแล้ว ก็ยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนแบบต้องไปด้วยกันแล้ว แต่ในภาพที่ซ้อนกัน ก็คือ พรรคเพื่อไทย จะต้องแข่งขันอย่างเข้มข้นกับพรรคก้าวไกล เพราะที่ผ่านมา และในอนาคตมันไปกันคนละทางและหากบอกว่าพรรคก้าวไกลนี่แหละอาจเป็นอีกกระดูกชิ้นโตกับเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” คราวหน้า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น