ฝ่ายเดียวกันก็ไม่เว้น! “ปวิน” ซัด “เปิ้ล กริชสุดา ผู้ลี้ภัย” โง่ “แบกทักษิณ” อย่างนี้ต้องโหน “พิธา-สุดารัตน์” ชื่นชม “มิลลิ” พลังคนรุ่นใหม่ “ปวิน” ฟาด “อยู่เมืองไทย ถูกจับเพราะด่ารัฐบาล วันนี้เคลมกันใหญ่.. อีสลิ่มตอแหล”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 เม.ย.) เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ โพสต์ข้อความ ซัดผู้ลี้ภัยด้วยกันว่า
“โคตรเกลียดคนประเภทนี้ คนที่หน้าไหว้หลังหลอก ส่วนตัว ใครที่รู้จักดิชั้นจะรู้ว่า ดิชั้นคือ open book คือ ถ้ารักใครก็รัก ถ้าไม่รักก็ไม่รัก แต่ไม่เคยเสแสร้ง… ผู้หญิงคนนี้ชื่อ เปิ้ล กริชสุดา หมีน้อย ผู้ลี้ภัย เป็นผู้ลี้ภัยในเยอรมัน ที่ผ่านมา ดิชั้นคิดว่า ดิชั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนาง เพราะก่อนหน้านี้ เจอกันบ่อยที่เยอรมัน แล้วมีการคุยหลังไมค์กันด้วยคำพูดอ่อนหวาน
จนล่าสุด นางรู้ว่าดิชั้นมีปราศรัยที่เมือง Aachen ที่เยอรมัน นางบอกอยากมาเจอ จึงตามมาเจอ แล้วก็แสดงความดีอกดีใจที่ได้เจอ อุ้ยตาย ดิชั้นคิดว่าเค้ารักดิชั้น แถมยังเปิดฟลอร์ให้นางเล่าเรื่องการหนีตายจากไทยให้นักศึกษาฟังด้วย ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี
จนกระทั่งดิชั้นวิจารณ์ทักษิณเมื่อวันก่อน จึงถูกนางไปตั้งสเตตัสด่า แถมตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของดิชั้น
…มึงจะเป็นนางแบกทักษิณนั่นคือเรื่องของมึงค่ะ แต่โปรดเก็บความตอแหลไว้กับตัว แล้วเจอกันครั้งหน้า มึงพูดสิ่งที่มึงอยากจะพูดตรงๆ ถ้าจะด่าว่าดิชั้นไม่มีความน่าเชื่อ ด่าต่อหน้า อด อย่าเอาไปด่าลับหลัง แล้วถ้าใครก็ตามที่มึงสนับสนุน ถ้าเค้าซีเรียสกับการแก้ปัญหาการเมืองจริงๆ ป่านนี้ทั้งกูและมึงได้กลับไทยแล้วค่ะ อีโง่”
ทั้งนี้ จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ CARE Talk x CARE Clubhouse เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมาตอนหนึ่ง ว่า ตนเองถวายงานใกล้เจ้านายที่สุด รู้ดีอะไรเกิดขึ้น เศรษฐกิจประเทศล้มเหลว เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้แล้วโทษสถาบันฯ ก็คิดว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยันความจริงมันไม่เกี่ยว พร้อมกับแนะว่าอยากมีอนาคตที่ดีต้องได้รัฐบาลที่มีความสามารถมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์
นายปวิน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวว่า
“ทำไมถึงรังเกียจทักษิณในการไลฟ์เมื่อวาน ก่อนอื่นต้องบอกว่า ดิชั้นไม่ได้เป็นโรค Thaksinophobia และมีหลายครั้งที่ดิชั้นดีเฟนด์ทักษิณจากการโจมตีของติ่งก้าวไกล แต่เมื่อวานเหลืออดจริงๆ คือ การที่คุณต้องการคืนดีเจ้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่คุณบอกว่า เด็กๆ ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เลยไปเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน อันนี้เป็นเรื่องที่แย่มาก
ประการแรก คือ มึงไม่มีสิทธิดูถูกเยาวชนผู้กล้าเหล่านั้น
ประการที่สอง การบอกว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปัญหา นี่คือ การพูดที่ดูถูกคนไทย จนป่านนี้แล้วยังกล้าพูดอะไรที่บิดเบือนได้ขนาดนี้
ประการสุดท้าย ในการเจอทักษิณทุกครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่ไม่ด่าเจ้าให้ฟัง เลยรู้สึกว่า การออกมาปกป้องเจ้า ทั้งๆ ที่ลับหลังด่า มันไม่ใช่ และไม่เวิร์กอีกต่อไป
เอาล่ะ คุณจะมีนโยบายโปรเจ้าเพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง คุณก็ควรจะพูดออกมา อย่าไปด่าเด็ก ดิชั้นไม่เคยคาดหวังให้ทักษิณลุกขึ้นมาล้มสถาบัน เพราะเค้าไม่ทำแน่ๆ แต่การด่าเด็ก ดูถูกเด็ก มันทุเรศและน่าขยะแขยงมาก นี่ยังยืนยันว่าพูดในฐานะกัลยาณมิตร แม้ว่าทักษิณอาจจะไม่ได้คิดกับดิชั้นแบบนั้น” (จากไทยโพสต์)
ขณะเดียวกัน จากกรณีที่ “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินเดี่ยวไทยคนแรก ที่ได้ขึ้นโชว์บนเวทีโคเชลลา (Coachella) เทศกาลดนตรีระดับโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้น ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชม ล่าสุด มีคนในแวดวงการเมือง ร่วมแสดงความเห็นด้วยกันหลายคน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ทวีตว่า “การแสดงของน้องมิลลิสุดยอดมาก แม่ตามดูจาก #MILLILiveatCoachella ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จมิลลิอีกครั้ง ยิ่งกว่านั้น ยังสะท้อนพลังคนรุ่นใหม่ ที่เดินทางตามความฝันจากความชอบตัวเอง กล้าที่จะออกแสดงความเป็นตัวเอง นี่คือ อีกตัวอย่างศิลปินที่ควรได้รับการสนับสนุน”
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า
“ตื่นเช้ามาดู MILLI ขึ้นเวที #coachella2022
ปี 1999 ผมอยู่ปี 2 การเงิน ธรรมศาสตร์ ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ UT Texas ได้ยินเรื่องคอนเสิร์ต Coachella เป็นครั้งแรกเพราะไล่ตามดู Rage against the machine วงโปรด ( ที่จำได้ในหัวแต่ไม่เกี่ยวกัน คือ Coldplay เพิ่งปล่อยเพลง Yellow เป็นครั้งแรก มาเล่นที่ Austin, Texas ตั๋วเพียง 250 บาท!)
ตอนนั้นผมนั่งดูทีวีในดอร์มกับเพื่อนๆ หลากหลายเชื้อชาติ จำได้ว่าปีนั้น มี Beck, Roni Size, Moby, The Chemical Brothers และแน่นอน RATM ระดับโลก ต้อง Soft power ระดับโลกเท่านั้นที่จะขึ้นเวทีนี้ได้
22 ปีผ่านไป MILLI ศิลปินในดวงใจลูกสาวผม (6 ขวบ) ที่ช่วงนี้ร้อง The Weekend ทั้งวันนนน พิสูจน์ให้เราเห็นว่า Soft Power ไทยเป็นไปได้ นี่ขนาดเขาทำกันเองยังขนาดนี้ ถ้ารัฐบาลสนับสนุนจะขนาดไหน
ต้องให้เครดิต รุ่นที่เคยทำได้มาก่อน ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะ มีอย่างน้อยก็ T-Bone กับ Loso ที่เคยขึ้นเวทีระดับโลก
ก่อนอื่นเลย 1) ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีความหลากหลาย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มี Soft Power
2) ต่อมาต้องสร้างรัฐสวัสดิการสนันสนุนศิลปิน ถ้าพูดให้เห็นภาพ เมือง Tennessee เป็นเมืองหลวงแห่งเพลงคันทรีได้ด้วยการมีบ้าน มีสวัสดิการสำหรับคนดนตรีคันทรีให้ไม่ต้องยอมแพ้ หรือต้องเลือกว่า จะเดินตามความฝัน โฟกัสกับการทำเพลงหรือต้องหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ นักดนตรีไม่ต้องพะวงทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดได้เต็มที่
3) แล้วค่อยมาพูดเรื่อง การมีกระทรวงรับผิดชอบ งบเพิ่มขึ้นกี่เท่าๆ ภายในกี่ปี ลงทุนมีห้องถ่าย อุปกรณ์ระดับโลก เอา Big Data & AI มาคอยจับ ว่าคนฟังเลื่อนตรงช่วงไหน ถอยกลับมาฟังช่วงไหน เพื่อทำท่อนฮุกให้ติดหูคนในเพลงถัดไป
ดีใจกับ YUPP ด้วยครับ วันหลังต้องขอความรู้จากพวกคุณด้วยครับ เพื่อปูทางส่งโอกาสต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป” (จากสยามรัฐออนไลน์)
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา โพสต์ข้อความว่า “มิลลิ” เล่าเรื่องไทยบนโคเชลลา เสาไฟกินรีถึงขี่ช้าง เมื่อ “ซอฟต์เพาเวอร์” ไม่ใช่แค่รำไทย
ถอดเพลงเมื่อ “มิลลิ” เล่าเรื่องไทยบนโคเชลลา “เสาไฟกินรี-รถไฟ” ตะโกนดัง “ไม่ได้ขี่ช้าง”
ขึ้นเวทีเทศกาลดนตรี โคเชลลา เรียกเสียงกรี๊ดกระหึ่ม และยังเป็นกระแสไปทั่วโลกออนไลน์ไม่น้อย เพราะไม่ใช่เพียงแค่ มิลลิ - ดนุภา คณาธีรกุล เป็นศิลปินเดี่ยวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีโชว์ นำเพลงของเธออย่าง สุดปัง และ Mirror Mirror ที่ร้องกับศิลปินดังเกาหลี ไปโชว์
มิลลิ ยังสร้างกระแส ด้วยการนำเอาประเทศไทยขึ้นไปเล่าบนเวทีผ่านบทเพลงแรกในโชว์ของเธอ เริ่มต้นด้วยการไหว้ย่อ ก่อนจะบอกว่า เธอเป็นคนไทย และอยากจะเล่าเรื่องของชีวิตในประเทศ ที่แน่นอนว่า ร้อนมาก
หลายท่อนในเพลง คาดว่า เป็นการแร็ปในภาษาลู อย่างไรก็ตาม มีท่อนเด็ดกระแทกใจอย่าง “I didn’t ride the Elephant คนไทย ไม่ได้ขี่ช้าง รถไฟฟ้าบีทีเอสก็มีค่ะ subway ก็มี” และ “เสาไฟกินรี ต้นละแสน รถไฟสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 120 ปี”
รวมไปถึงการเอ่ยถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติหลายคนรับรู้ อย่าง ปิงปองโชว์ รวมถึง การแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย
แถมยังกินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ ในเพลงที่เล่าเรื่องข้าวเหนียวมะม่วง เมนูเด็ดจากโฮมทาวน์ ทั้งยังมีการกล่าวถึง ทุเรียน ลำไย ขนุน ก่อนเดินลงเวทีแบบไม่ทิ้งคาแรกเตอร์
โชว์เพลงดังกล่าวของมิลลิ ทำให้หลายคน มองไปถึงการผลักดัน Soft Power ของรัฐบาล โดยว่า นี่คือการนำเอาซอฟต์เพาเวอร์ ไปแสดงได้ดีที่สุด
ขณะที่ “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญอ้อม เจ้าพ่อเทศกาลดนตรีประเทศไทย โพสต์แสดงความเห็นทีหลังจบโชว์ ว่า
นี่แหละ Soft Power ของจริง จากฝีมือจริงๆ โชว์พาร์ท ของมิลลิ ใน Coachella ดีมาก ดีแบบที่เราร่วมภูมิใจกับเธอได้เลย เธอยังคงเป็นตัวเอง คาแร็คเตอร์ขี้เล่น แต่เก่งทุกอย่าง ทั้งร้อง เต้น แร็ป ได้โชว์หมด ในเวลาแค่ไม่กี่นาที แถมยังชวนคนมากินข้าวเหนียวมะม่วงที่เมืองไทยอีกด้วย
ช่วงที่ประทับใจที่สุด ก็คือ ท่อนที่แร็ปเรื่องความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ชาวต่างชาติทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย แล้วตะโกนปิดท้ายลั่นเวทีว่า “และที่สำคัญนะ กูไม่ได้ขี่ช้างโว้ย” ประโยคนี้อาจตะโกนบอกคนทั้งโลกว่าประเทศไทยมีอะไรมากกว่าที่ทุกคนรู้ และอาจจะตะโกนบอกบางคนที่ชอบพูดคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ๆ บ่อยๆ ว่า ถ้าสนับสนุนไม่เป็นก็ไม่เป็นไร แค่ไม่ต้องขัดขวาง พวกเราไปกันเองได้ เพราะ “กูไม่ได้ขี่ช้างโว้ย”
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3292912
และ จากเฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา เช่นกัน ที่แชร์โพสต์ทวิตเตอร์ของ “ปวิน” ว่า
“อยู่เมืองไทย ถูกจับเพราะด่ารัฐบาล วันนี้ได้ขึ้นเวทีระดับโลก โอ้ย เคลมกันใหญ่ว่ามิลลี่คือตัวแทนที่สง่างามของไทย อีสลิ่มตอแหล”
#milli #มิลลี่
รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
17 เมษายน 2565
https://twitter.com/PavinKyoto/status/1515534045291364355...
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่องบางเรื่อง ถ้าตีความเข้าข้างตัวเอง ก็จะเป็นเรื่องน่าชื่นชม เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเหมือนบอกเล่าเข้าข้างฝ่ายตัวเอง
แต่ถ้ายึดติดกับคำว่า ใครก็ตามที่ยกย่องประเทศไทย หรือ อวดอ้างประเทศไทย มีดีอย่างไรในเวทีโลก ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ ไม่ว่า โดยตรงหรือ โดยอ้อม คนที่เกลียดรัฐบาลไทย ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ก็จะโจมตีพวกที่ชื่นชอบชื่นชมการแสดงออกเหล่านั้น ว่า เป็นพวกเชียร์รัฐบาล หรือ “สลิ่ม” แม้ว่า ถ้ามองอีกมุม อาจมีคนตีความว่า เขากำลังสะท้อนความดีประเทศไทย แต่มีรัฐบาลที่ห่วย อย่างที่เป็นกระแสโจมตีอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับบางคน
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า ความเข้ม ความสุดโต่ง ของการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง แต่ละคน แต่ละฝ่าย อยู่ในระดับไหน ก็สามารถวัดได้จากการแสดงออกผ่านวิสัยทัศน์ทางการเมืองนั่นเอง