กลุ่มประชาชนคนไทย ร้องคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เดินหน้าตรวจสอบความจริงปมคดี “แตงโม” หวั่นเกิดอิทธิพลเหนือกระบวนการยุติธรรม พร้อมขอให้เร่งติดตามการแก้ไขกฎหมายตำรวจ-กฎหมายนิติวิทยาศาสตร์ ให้สามารถร้องขอผ่าชันสูตรพิสูจน์ศพซ้ำ ทั้งในคดีอาญาและไม่ใช่คดีอาญาได้
วันนี้ (28 มี.ค.) กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ และ นายพิชิต ชัยมงคล พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อกรณีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นิดา รวมทั้งเรียกให้บุคคลใดๆมาให้ข้อเท็จจริงเต็มตามอำนาจของคณะกรรมาธิการ รวมไปถึงการตรวจสอบกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีข้อสังเกตการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ 17 ประเด็น และเหตุผลที่มายื่นเรื่องต่อกรรมาธิการนั้น เพราะจากการติดตามข่าว ปรากฏกรณีมีการให้สัมภาษณ์ว่าการทำงานของกรรมาธิการเป็นการแทรกแซง ซึ่งตนมองว่าอาจเป็นการไม่รู้กฎหมาย ไม่เข้าใจระบบตรวจสอบถ่วงดุล และไม่เคยชินกับการที่จะถูกตรวจสอบ ตนจึงมายื่นเรื่องขอให้กรรมาธิการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจาก 17 ประเด็นดังกล่าว ก็เตรียมจะยื่นเสนอประเด็นตรวจสอบเพิ่มเติมตามมาอีก
ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำคดีวิสามัญฆาตกรรม การซ้อมทรมานด้านสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างมั่นใจว่าบนร่างของคุณแตงโม ดูจากสภาพด้านหน้าน่าจะมีบาดแผลด้านหลังด้วย แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นบริเวณใด ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานสืบสวนสอบสวนสามารถเปิดเผยให้ประชาชนทราบได้ ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อคดีใดๆแต่จะทำให้ประชาชนติดตามคดีได้และสามารถช่วยหาร่องรอยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การดำเนินการทุกอย่างไม่จำเป็นจะต้องเป็นความลับทุกอย่าง อีกทั้งการที่กรรมาธิการลงพื้นที่ตรวจสอบเรือที่เกิดเหตุก็จำเป็นจะต้องตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด และตำรวจต้องทำให้อย่างโปร่งใส เพราะสังคมเองยังคาใจอยู่หลายเรื่อง และอยากให้กรรมาธิการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพราะการอาศัยแพทย์เพียงอย่างเดียวอาจตอบคำถามได้ไม่หมดโดยเฉพาะเรื่องเรือที่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการ
นอกจากนี้ กลุ่มประชาชนคนไทยยังขอให้ กมธ.ได้เร่งติดตามการแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ และการแก้ไขพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง อาทิ การสามารถร้องขอให้ผ่านชันสูตรซ้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ตายทั้งคดีอาญาหรือไม่ใช่คดีอาญาได้ / การยกเลิกขั้นตอนการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพราะการชันสูตรศพทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นคดีอาญาทุกราย / ขณะเดียวกันการรายงานผลการผ่าชันสูตรซ้ำ ไม่ควรให้โทษกับพนักงานสอบสวนที่ถือเป็นความผิดหากไม่ปรากฏในสำนวนคดี เพระบางครั้งอาจไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนร้องขอให้ผ่าชันสูตรซ้ำก็ได้