“ส.ส.ภาดาท์” พปชร. เตรียมพร้อม เสนอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อพิจารณาเข้าสู่การประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ภายหลังพบนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ ชี้แจงความสำคัญการออกกฎหมาย มุ่งแก้ปัญหาต้นเหตุของเกิดฝุ่น PM 2.5 เดินหน้าแก้ไขแบบยั่งยืน มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
วันนี้ (5 มี.ค.) นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส. กทม.เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ยื่นต่อประธานประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อพิจารณาเสนอให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของกระทรวง ทบวง กรม พิจารณา และข้อเสนอแนะ ต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากร่าง พ.ร.บ.ของหลายพรรคการเมือง และภาคประชาชน อื่นๆ ถูกตีตก หลังจากวินิจฉัยว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน อีกทั้งยังมองว่ามี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมดูแลอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับนี้ จะเป็นการบริหารงานได้ตรงจุด และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการใช้มาตรการเฉพาะหน้า โดยร่าง พ.ร.บ.ที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นไป เป็นการนำร่างของภาคประชาชนที่ได้เคยยื่นไปแล้วกลับมาปรับปรุงใหม่ ยังเน้นสาระสำคัญในเรื่องของนำกฎหมายมาใช้ในการควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการถอดปัญหาจริงเพื่อสะท้อนนำมาสู่การแก้ไข รวมถึงการที่ให้สิทธิประชาชนสามารถฟ้องร้องบุคคล หรือรัฐ ที่เป็นผู้ก่อมลพิษ และการตั้งศูนย์เรียลไทม์ดาต้าเบส ในการแสดงข้อมูลปัจจุบันของค่าฝุ่นในแต่ละพื้นที่ได้ทันที โดยไม่ใช่เป็นค่าเฉลี่ยในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการจัดการกับปัญหาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมให้มีการตั้งคณะกรรมการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรี ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เกิดการบูรณาการอย่างสมบูรณ์
นางสาวภาดาท์ กล่าวด้วยว่า ตนเองอยากผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของการประชุมรัฐสภาให้แล้วเสร็จในสมัยนี้ ก่อนหน้านี้ จึงได้มีการขอเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความกรุณาให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ โดยได้ชี้แจ้งกับนายกรัฐมนตรีว่า ในช่วงแรกหาก ร่าง พ.ร.บ.ได้รับการพิจารณาจะไม่มีการใช้งบประมาณมากนัก ซึ่งจะไม่กระทบรายจ่ายของภาครัฐ เพราะทราบดีว่าขณะนี้รัฐบาลต้องนำเงินมาบริหารประเทศในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจถึงการมีร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ต้องแยกออกมาจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม โดยทางกระทรวงก็รับฟังและจะไปทำความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป