xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ก๊อก 2 สมัคร พปชร.คุมเกมเสี่ยงเอง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา

เวลานี้ถือว่าการเมืองกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทุกพรรคการเมืองต่างมีการขยับปรับเปลี่ยนกันภายในเพื่อรับกับสถานการณ์ใหม่ ล่าสุด ก็เห็นการเคลื่อนไหวภายในพรรคเพื่อไทย ของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ผลักดันลูกสาวคนเล็ก คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รวมไปถึงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

แน่นอนว่า การส่งลูกสาวคนเล็กเข้ามาในพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นหัวหน้าพรรค แต่ในความหมายก็ถือว่าสำคัญอยู่ในตัวเองอยู่แล้วว่า เธอนี่แหละคือสายตรงแบบไม่ต้องอ้อมค้อม และรอจังหวะที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “แคนดิเดตนายกฯ” อันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งคราวหน้า

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสำหรับคอการเมือง ยังมองออกได้ไม่ยาก ว่า นายทักษิณ ต้องการเข้ามา “แย่งชิงมวลชนคนรุ่นใหม่” กับพรรคก้าวไกล ที่เวลานี้ถือว่าเป็นคู่แข่งใน “เส้นทางเดียวกัน” อย่างชัดเจนแล้ว

ล่าสุด ยังมีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การขยับรื้อมาตรา 112 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการ “เล่นเกมเสี่ยง” ว่า จะ “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า การมีท่าทีแบบนี้ เพื่อต้องการคะแนนเสียงจาก “ม็อบสามนิ้ว” หรือเสียงจากคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ต้องสูญเสียมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง และเชื่อว่า อย่างหลังย่อมต้องมีจำนวนมากมายที่ยังนิยม และศรัทธาต่อสถาบันฯ ทำให้ต้องติดตามกันต่อไปว่า พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าอย่างเต็มกำลังหรือไม่

แต่เมื่อพิจารณาจากจดหมายเปิดผนึกของ นายชัยเกษม นิติสิริ ที่เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ที่อ้างถึงความจำเป็นต้องเสนอแก้ไข มาตรา 112 โดยพรรคจะมีการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป แม้ว่าในเบื้องต้นจะมองออกว่านี่เป็น “เกมแย่งมวลชน” กับคู่แข่งในเส้นทางเดียวกันอย่างพรรคก้าวไกลก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันอีก ก็คือ การนำเสนอแบบนี้ย่อมต้องผ่านการพิจารณามาอย่างรอบด้านแล้ว คงไม่ใช่เป็นการเสนอโดยพลการของ นายชัยเกษม คนเดียวโดดๆ แน่นอน

ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาจาก “แบ็กกราวนด์” ของ นายชัยเกษม คนนี้ถือว่า “เป็นลูกน้องสายตรง” ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำในเรื่องสำคัญหลายเรื่อง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เป็นอดีตอัยการสูงสุด จนกระทั่งเกิดเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องตามมาก็ตาม เพราะสิ่งที่ผิดสังเกตมาตั้งแต่เปลี่ยนแถบโลโก้พรรคเพื่อไทย ที่มีแต่ “สีแดง” โดย “ลบสีน้ำเงิน” ออกไป จนนำมาถึงข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของมือกฎหมายที่ไว้ใจคนนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามว่าจะ “เอาจริง” หรือแค่จุดพลุหาคะแนนเสียงจากเด็กๆ หรือไม่

ขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งก็ต้องจับตาไม่แพ้กัน นั่นคือ พรรคพลังประชารัฐ ที่นาทีนี้แม้ว่าจะดูเหมือน “กลบรอยร้าว” หรือความขัดแย้งภายในกันไปแล้ว แต่น่าเชื่อว่าเป็นลักษณะ “ชั่วคราว” เท่านั้น เพราะด้วย “ตรรกะ” และเหตุผลตามความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีทางที่จะเดินไปราบรื่น ยังต้องมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งอาจจะพ่วง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

เพราะหากพิจารณาจากความเชื่อที่ว่า สาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อ “โค่นบิ๊กตู่” เมื่อครั้ง “ศึกซักฟอก” ที่ผ่านมา และนำไปสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตามมา

แม้ว่า ที่ผ่านมา จะมีการเคลียร์และการรับประกันจาก “พี่ใหญ่” ในกลุ่ม “สาม ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า ยังสามารถควบคุมได้ และ “อุ้ม” ให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐต่อไปก็ตาม รวมไปถึงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ยังไม่มีการขยับเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเดิม แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่จะ “ปรับโครงสร้างพรรค” บางอย่างเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นคือ จะเพิ่มตำแหน่ง “หัวหน้าภาค” ขึ้นอีกจำนวน 10 ภาค หรือ 10 คน เพื่อกระจายกันดูแลพื้นที่ ดูแล ส.ส. แทนที่จะเป็นการ “รวมศูนย์” อยู่กับคนไม่กี่คน โดยเฉพาะเลขาธิการพรรค ซึ่งหัวหน้าภาคดังกล่าวนี้ จะพิจารณาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก่อนที่จะส่งให้หัวหน้าพรรคชี้ขาด ซึ่งเวลานี้คนที่กำลังร่างพิมพ์เขียวการปรับโครงสร้างพรรค ก็คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค

หากรูปการณ์ออกมาแบบนี้ ก็ย่อมหมายถึงจะมีการ “ถ่วงดุล” และลดอำนาจในพรรคของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงไป โดยจะกระจายไปทิ้งน้ำหนักไปยังกลุ่มต่างๆ ในพรรคที่มีอยู่หลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสามมิตร กลุ่มตะวันออก กลุ่มเพชรบูรณ์ กลุ่มภาคกลาง เป็นต้น

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปอีก ก็คือ ท่าทีล่าสุดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แย้มออกมาเมื่อวันก่อนว่า “จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในอนาคต” เพียงแต่รอจังหวะเท่านั้น โดยคำพูดที่เขาให้สัมภาษณ์เมื่อสี่ห้าวันก่อน ถือว่าค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการปฏิเสธการตั้งพรรคใหม่

“เป็นหน้าที่ของใครก็ว่ากันไปนะจ๊ะ เมื่อซักว่าได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรค พปชร. แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “คุยๆ คุยกันตลอดนั่นแหละ ก็คุยกัน”

เมื่อถามว่า มีการรายงานเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ยังนั่งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “คุยกัน ทราบหมดนั่นแหละ ผมไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขานะ ผมทราบจากสื่อบ้างนั่นแหละ และก็ที่เขารายงานมา ผมก็รับทราบ ขอให้ทำงานด้วยกันให้ได้ ให้สงบ ไม่ให้สื่อแปลกันไปกันมา เข้าใจหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็ขัดแย้งกันไปเรื่อยๆ อะไรที่แก้ได้ตามกรรมการบริหารพรรค ก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค นายกฯ ไปสั่งใครเขาไม่ได้หรอก”

ถามว่า แต่กองเชียร์อยากให้นายกฯ ไปตั้งพรรคใหม่ นายกฯ ตอบว่า ไม่มีหรอก ใครเชียร์ล่ะ เมื่อผู้สื่อข่าวตอบกลับไปว่า มีกองหนุนอยากให้ตั้งพรรค นายกฯ จึงกล่าวว่า “เหรอ เราจะแยกกันที่ไหน แยกกันได้อย่างไร”

ซักอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ นายกฯ ตอบสั้นๆ ว่า “ดูในระยะต่อไปก่อน” เมื่อถามย้ำว่าจะมีโอกาสพิจารณาในตอนไหน นายกฯ ตอบเพียงว่า “จะพิจารณาตอนไหนก็ตอนนั้น”

นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แม้ว่ายังไม่ชัดเจนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ โดยกล่าวทำนองว่า ให้ดูในระยะต่อไปก่อน ความหมายก็น่าออกมาในแบบ “รอจังหวะ” อะไรประมาณนั้น ซึ่งทั้งสองเรื่องคือ ตั้งพรรคใหม่ กับเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นาทีนี้เมื่อพิจารณาจากคำพูดข้างต้นน่าจะออกมาอย่างหลังมากกว่า และจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของเขาอย่างมีนัยสำคัญด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่า เงื่อนไขในการเลือกตั้งคราวหน้าจะเป็นไปในรูปแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องฉายภาพความเป็น “ประชาธิปไตย” เต็มรูปแบบ ซึ่งถึงเวลานั้น เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องสังกัดพรรคเต็มตัว จะมาแบบได้รับการเสนอชื่อจากพรรคแบบ “ลอยลงมา” แบบเดิมคงไม่เหมาะแล้ว อีกทั้งแบบนั้นยังเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี และที่สำคัญยัง “ขาลอย” อีกด้วย

ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขและแรงกดดันรอบทิศ เชื่อว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการไปต่อ ก็ต้องมาในรูป “ประชาธิปไตย” ตามกติกาที่สากลมากกว่าเดิม โดยการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไว้ก่อนตามที่แย้มเอาไว้ ขณะเดียวกัน เมื่อมีการปรับโครงการพรรคใหม่ที่ใช้ระบบ “ถ่วงดุล” กันภายใน และแบบนี้น่าจะเป็นการสร้างหลักประกันต่อการคงอยู่ของ “บิ๊กตู่” ได้อย่างมั่นคงขึ้น อย่างน้อยก็สามารถคุมเกมได้ใกล้ชิด และยังส่งผลไปถึงการเลือกตั้งคราวหน้าที่ต้องสู้กันด้วย “กระแส” เพราะถึงอย่างไรในสังคมภายนอกย่อมดีกว่ากระแส “ธรรมนัส” และ “ลุงป้อม” แน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น