เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าหากเทียบฟอร์มศักดิ์ศรี ชื่อชั้นแล้วอาจเทียบกันไม่ได้ระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เพราะถือว่าห่างชั้นกันมาก ฝ่ายแรกเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายหลังเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และเพียงยศนำหน้าก็ต่างกันอยู่แล้ว แต่ในทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น อะไรก็ตามที่สามารถสร้างหลักประกัน สร้างความมั่นคงให้ได้ก่อนก็ต้องรีบลงมือทำ
แน่นอนว่า เวลานี้คอการเมืองกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวและความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่เชื่อมโยงมาถึงอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของเขาอีกด้วยว่าจะออกมาแบบไหน
นาทีนี้ไม่ต้องพูดกันมาก ก็รับรู้กันอยู่แล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถือว่าน่าจะเดินร่วมทางกันไม่ได้อีกแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวเพื่อ “คว่ำ” พล.อ.ประยุทธ์ ในญัตติ “ซักฟอก” ตอนปลายสมัยประชุมที่ผ่านมา และนำมาสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯในที่สุด
ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์กันว่า ร.อ.ธรรมนัส คงจะต้องย้ายพรรค หรือตั้งพรรคใหม่ ซึ่งเจ้าตัวก็เคยแถลงท่าทีดังกล่าวออกมาให้รับรู้ไปแล้ว หลังจากทราบเรื่องถูกปลดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เพียงแต่ว่าติดเงื่อนไขเรื่องสถานภาพ ส.ส.ของตนเองที่ต้องพ้นไป ทำให้ยังไม่ถึงเวลา อีกทั้งอาจถูกรั้งจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทางหนึ่งอาจต้องการให้อยู่ใกล้ตัว ดีกว่าไปอยู่ฟากตรงข้าม
อย่างไรก็ดี ในช่วงร่วมหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยังไม่ดีขึ้น ตรงกันข้ามหากพิจารณาโฟกัสไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะ “วัดกำลังท้าทาย” ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา จากการลงพื้นที่ และการเกณฑ์ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไปให้การต้อนรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการตรวจพื้นที่ ขณะที่อีกฝ่ายคือ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเห็นภาพการต้อนรับโหรงเหรง ซึ่งในข้อเท็จจริงเบื้องลึกเป็นอย่างไรยังไม่แน่ชัด แต่ภาพที่ออกมามันทำให้มองเห็นภาพแบบนั้นทุกครั้ง และที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่เคยบอกว่าจะให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าแต่อย่างใด
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะย้ำว่ายังมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น ทั้ง “กลุ่มสาม ป.” ที่รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปด้วย แต่เมื่อมีภาพความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส ภายใต้ “เงา” ของ “พี่ใหญ่” แบบนี้มันดูกระอักกระอ่วนพิกล เพราะทุกเรื่อง มักจะอ้างว่าได้รับมอบหมาย และรับคำสั่งมาจากพล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคทุกครั้ง แม้กระทั่งเรื่องการ “ทำโพล” ที่อ้างเพื่อสำรวจวัดความนิยมของ ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อจะได้นำไปปิดจุดอ่อน แก้ไขก่อนการเลือกตั้งคราวหน้า ขณะเดียวกัน ยังเป็นการประเมินผลงานของบางคนสำหรับการตัดสินใจส่งรับสมัครเลือกตั้งหรือไม่อีกด้วย
กรณีดังกล่าวนี้เองทำให้เกิดความหวาดระแวงและความไม่พอใจกันในพรรคพลังประชารัฐพอสมควร เนื่องจากองค์ประกอบของพรรคมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้ออกมาย้ำว่า “ไม่ได้สั่ง” ซึ่งขัดแย้งกับคำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ยืนยันก่อนหน้านี้ ว่า ทำโพลตามคำสั่งของหัวหน้าพรรค
ที่น่าสนใจก็คือ ในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร ย้ำในเรื่องดังกล่าวไปไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พูดย้ำถึงเรื่องเดียวกันว่า “หัวหน้าพรรคยืนยันแล้วว่าไม่ได้สั่งทำโพล เป็นการทำโดยพลการ” ซึ่งแม้ไม่เอ่ยชื่อโดยตรงก็ย่อมหมายถึง ร.อ.ธรรมนัส นั่นแหละ
ขณะเดียวกัน หลังจากนั้น ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ชัดเจนขึ้น และเริ่มเคลื่อนไหวในลักษณะป้องกันปัญหาล่วงหน้า โดยเฉพาะการรับมือการเปิดสภาสมัยสามัญในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป โดยกำชับไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้เข้าประชุมสภาอย่างพร้อมเพรียง เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับรอการพิจารณาอยู่ และที่น่าสนใจก็คือ กฎหมายสำคัญเหล่านั้น ยังชี้เป็นชี้ตาย ส่งผลถึงอนาคตของรัฐบาล รวมทั้งอนาคตทางการเมืองของเขาอีกด้วย เพราะหากมีกฎหมายฉบับใด ที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน และเป็นกฎหมายที่ผูกพันตามรัฐธรรมนูญก็มีทางเลือกสองทาง นั่นคือ ไม่ยุบสภา ก็นายกฯก็ต้องลาออก
นี่แหละมันถึงที่มาของการเคลื่อนไหวเรียกหารือกลุ่มรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งน่าสังเกตก็คือ ไม่มีกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส เข้าร่วม และมีรายงานข่าวออกมาว่า กำลังมีความพยายาม “ปลด” ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากเลขาธิการพรรค โดยให้กรรมการบริหารลาออกเกินกึ่งหนึ่ง และมีการนัดประชุมกันในวันที่ 28 ตุลาคมนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้วก็ยังไม่ง่ายดายนัก เมื่อเขายังดิ้นรนต่อต้าน อย่างน้อยก็ได้มีการล็อบบี้ให้กรรมการบริหารพรรคบางส่วนไม่ให้ลาออก
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้ ไม่ว่าจะสามารถปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าในอนาคตทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ร.อ.ธรรมนัส คงจะอยู่ร่วมกันยาก และถือว่าเดินมาสุดทางแล้ว เพราะหากฝ่ายหลังยังมีบทบาทในพรรค นั่นก็หมายความว่า ตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะไม่มั่นคง มีความเสี่ยงจากเสียงโหวตในสภาจากdฎหมายสำคัญได้ตลอดเวลา และที่สำคัญ นั่นย่อมหมายถึงอนาคตทางการเมืองของ “พี่ใหญ่” ไปด้วย เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปเป็น “ผู้มากบารมี” โดยที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์
ดังนั้น หากผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ออกมาแบบที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังเป็นเลขาธิการพรรคต่อไป นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการ “บีบ” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเข้ามาจัดการปัญหาภายในพรรคนี้ให้เด็ดขาด หรือหากไม่สำเร็จก็อาจต้องแยกออกไป และหากจะ “ไปต่อ” ก็คงต้องไปหาพรรคอื่นที่ตั้งขึ้นมารองรับโดยตรง เพราะอยู่แบบเดิมมันเสี่ยงเกินไป !!