เมืองไทย 360 องศา
“ผมไม่มีปรับหรอก” คำพูดยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม หลังการเป็นประธานการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนในวัยตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อดับกระแสข่าวความเคลื่อนไหวปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกล่าวกับบรรดาผู้ปกครองนักเรียนอีกว่า “อย่าไปเชื่อข่าวลือ บิดเบือนข้อมูลต่างๆ นานา ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง หากมีอะไรสงสัยไม่เข้าใจให้ฟังจากช่องทางของรัฐบาล”
สอดคล้องกับคำพูดก่อนหน้านี้ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ำว่า ไม่มี ไม่มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งอะไรในพรรค ตอนนี้ยังไม่ทำอะไรทั้งนั้น รัฐบาลต้องใช้เวลาแก้ปัญหาประเทศก่อน โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และนายกฯยังไม่มาปรึกษาเรื่องปรับคณะรัฐมนตรี ตอนนี้ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี
ก็เป็นอันว่า เป็นการสยบข่าวความเคลื่อนไหวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีที่มีก่อนหน้านี้ ที่อย่างน้อยมีมา “สองระลอก” เริ่มจากข่าวที่อ้างว่ามีความพยายามเสนอชื่อคนในพรรคพลังประชารัฐสองคน ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างจากกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งแน่นอน ว่านี่คือ “ข่าวปล่อย” ที่พุ่งเป้ากระแทกไปที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และได้รับการปฏิเสธและตอบโต้กลับมาอย่างรุนแรงว่า ไม่เป็นความจริง และย้ำว่า “ผมรู้กาลเทศะ”
จากนั้นถัดมาก็มีข่าวปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นการปรับใน “โควตานายกฯ” เช่น ปรับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งควบรองนายกฯกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดึง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย มานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีหลังเกษียณฯ และสอดรับกับข่าวการตั้งพรรคใหม่รองรับทีม “สอง ป.”
อีกทั้งปรับทีมเศรษฐกิจใหม่ โดยทาบทาม นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) มาเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นคนอื่น ซึ่งกำลังมองหาตัวบุคคลที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคลและตำแหน่งแล้วไม่น่าจะลงตัวนัก โดยเฉพาะตำแหน่งของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่หากนั่งควบรองนายกฯ นั่นเท่ากับว่าต้อง “หัก” กับ “พี่ใหญ่” คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะเท่ากับว่าต้องมาดูแลด้านความมั่นคง อย่างน้อยก็ต้องคุมงานบางส่วน หรือทั้งหมด
ขณะที่ตำแหน่งของ นายศุภชัย ด้วยชื่อชั้นในวันนี้ ต้องมานั่งเก้าอี้ “นายกฯเท่านั้น” และที่สำคัญยังไม่เกรงใจพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย เพราะปัจจุบันเขายังเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจให้กับพรรคอยู่ และลูกชาย คือนายปริญญ์ พินิชภักดิ์ ก็ยังอยู่ในทีมเศรษฐกิจของ นายจุรินทร์ ลักษณวิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อีกด้วย และที่ผ่านมา นายปริญญ์ ก็ย้ำว่าเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามทั้งตัวบุคคลไม่ลงตัว ตอบปฏิเสธ หรือเป็นข่าวปล่อยเพื่อหวังผลทางการเมืองเพื่อตีกันฝ่ายตรงข้ามภายในพรรคพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้ ซึ่งการออกมาประสานเสียงย้ำหนักแน่นของ “สอง ป.” ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า “ยังไม่ปรับ” ก็ต้องผ่านไปก่อน อย่างน้อยก็ไม่เกิดขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้แน่นอน
ขณะเดียวกัน หากจะให้ประเมินถึงสาเหตุการยื้อเวลาปรับคณะรัฐมนตรีอีกไปอีกระยะหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะสาเหตุหลักสอง สามประการ หนึ่งจะว่าไปแล้วโควตารัฐมนตรีที่มีอยู่สองตำแหน่ง หากพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ถือว่า “ไม่ได้สำคัญนัก” เป็นแค่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ไม่ได้เป็นโควตารัฐมนตรีว่าการ หรือหากเทียบกับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เหมือนกับว่าตั้งขึ้นมารองรับเฉพาะบุคคลให้ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเท่านั้นเอง
แต่ที่ผ่านมา หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาหรือ “ปรับเล็ก” รักษา “โควตา” กันเรียบร้อยแล้ว จากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำกับดูแล 4 กรม ในกระทรวงเกษตรฯ ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รับผิดชอบในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาก่อน ซึ่งเดิมอยู่ในการกำกับดูแลของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดอาการ “งอนข้ามพรรค” กันมาแล้ว มองในมุมนี้แล้วถือว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบร้อน
อีกประการหนึ่งก็คือ การ “ยื้อ” เวลาออกไประยะหนึ่งก็ต้องการให้สถานการณ์และความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐอยู่ในลักษณะ “นิ่ง” มากกว่านี้ อย่างน้อยก็อาจต้องการประเมินกำลังที่แท้จริงของอีกฝ่าย หรือ “กลุ่มก๊วน” ภายในพรรคว่าแต่ละกลุ่มมีกำลังมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยก็ได้จากการสังเกตจากการเดินสายไปทั่วประเทศในยามนี้
ดังนั้น หากพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดดังกล่าว แม้ว่าในที่สุดแล้วต้อง “ปรับแน่” แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งแล้ว ยังไม่ถือว่าต้องเร่งด่วนอะไรนัก ตรงกันข้ามหากเร่งปรับคณะรัฐมนตรีในตอนนี้ ก็น่าจะมีความเสี่ยงทำให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ภายในพรรคพลังประชารัฐโดยไม่จำเป็น ซึ่งทางออกที่ดีน่าจะทอดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นการ “ตรึงกำลัง” เพื่อประเมินทุกฝ่ายให้ชัดเจนเสียก่อน ก่อนตัดสินใจ !!