xs
xsm
sm
md
lg

สอง ป.แตกกัน เตรียมม้วนเสื่อทั้งก๊วน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


   พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา


ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า “กลุ่มอำนาจใหม่” ในเวลานี้เรียกว่า “กลุ่มสาม ป.” อันประกอบด้วย “พี่ใหญ่” คือ “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “พี่รอง” หรือ “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรงมหาดไทย และ “น้องเล็ก” คือ “ป.ประยุทธ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ดี หลักๆ ก็น่าจะเป็นแค่ “สอง ป.” คือ “ป้อม กับ ประยุทธ์” เท่านั้น

ตามเส้นทางการเติบโตและแบ็กกราวนด์ในอดีต มีการรับรู้กันแพร่หลายแล้วว่าทั้งสามคนมีความผูกพันแนบแน่นกันมายาวนานในกองทัพ ในนาม “บูรพาพยัคฆ์” มีการรับส่งต่อการบังคับบัญชามาแบบรุ่นสู่รุ่น เรียกว่า พึ่งพาอาศัยกันมาตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าด้วยบุคลิกที่ต่างกัน คอนเนกชันที่ต่างกัน แต่ก็ถือว่า “ค้ำยัน” ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วงจรอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันที่หลายคนมองเห็นภาพดังกล่าวชัดเจนขึ้น และเป็นภาพแสดงยืนยันความสัมพันธ์อันแนบแน่นมานานหลายสิบปี

อย่างไรก็ดี ล่าสุด มีรายงานปรากฏออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ว่า “สาม ป.แตกกัน” โดยเฉพาะ สอง ป.คือ ระหว่าง  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีการตั้งข้อสังเกตจากกรณี พล.อ.ประวิตร เกลี้ยกล่อมให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อยู่ร่วมในพรรคพลังประชารัฐ โดยยังรั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า เขาเป็นแกนนำในการกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงกระทรวงสำคัญ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายกระทบไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งอยู่ด้วย

โดยมีการเคลื่อนไหวล็อบบี้พรรคเล็กให้โหวตคว่ำนายกฯในสภา และนำไปสู่การปลดสองรัฐมนตรีช่วย คือ ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ดังที่ทราบกันดี

แม้ว่าจะมีความพยายามแสดงให้สังคมได้เห็นถึงความแนบแน่นระหว่าง “สาม ป.” ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ดังที่เห็นในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ได้เห็นภาพการประคองมาส่งถึงประตูรถ ซึ่งแน่นอนว่า นั่นคือ “การแสดง” แต่อย่างน้อยก็ไม่มีภาพมึนตึงให้เห็น ยังยืนยันถึงความแนบแน่นได้อย่างดี แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีหลายคนที่มองว่า “ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น” แล้ว จากเหตุผลความเชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัส ยังนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ต่อไปตามที่ “บิ๊กป้อม” ร้องขอให้ช่วยกันทำงานต่อไป

แต่ล่าสุด ก็มีรายงานความเคลื่อนไหวย้ำชัดออกมาอีกว่า “สอง ป.แตก” แล้ว โดยมีการตั้งข้อสังเกตที่แสดงให้เห็นถึงการ “วัดกำลัง” ระหว่าง สอง ป. จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดไปตรวจราชการที่ จังหวัดเพชรบุรี ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไปตรวจราชการในวันเดียวกัน คือ วันที่ 22 กันยายน โดยไปที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตามรายงานก็ยังอ้างว่า แต่ละฝ่ายต่างระดม ส.ส.ของพรรคไปต้อนรับ ภาพออกมาเหมือนกับเป็นการ “วัดกำลัง” และเกิดความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่ “สอง ป.” คือ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จะขัดแย้งกัน เพราะหากเป็นจริงแล้ว นั่นก็ย่อมจะเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะให้กับรัฐบาลชุดนี้ และที่ต้องไม่ลืมก็คือ จะหายนะทั้ง “สาม ป.” รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย

แน่นอนว่า ในความเป็นจริงยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทั้งคู่ขัดแย้งกันจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แต่หากพิจารณากันตามสภาพความเป็นจริง และตาม “ลักษณะพิเศษ” ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่ทั้งคู่จะขัดแย้งกันถึงขั้นแตกหัก เพราะนั่นเหมือนกับว่าพวกเขา “ทุบหม้อข้าว” ตัวเองทิ้งไปต่อหน้า

เพราะหากให้ประเมินก็ต้องบอกว่า ทั้ง “สาม ป.” โดยเฉพาะ “สอง ป.” คือ “ประยุทธ์-ประวิตร” ต่างพึ่งพาอาศัยกัน ค้ำยันอำนาจซึ่งกันและกัน ในทางการเมืองหากพิจารณาในเรื่อง “กระแส” ก็ต้องให้น้ำหนักมาทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ในทาง “คอนเนกชัน” ในการเชื่อมโยงกลุ่มการเมือง กลุ่มทุน ก็ต้องใช้บริการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ เวลานี้ที่ต้องมีเขาเป็นคน “คุมเกม” เป็นหัวหน้าพรรค เป็นฐานให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็ วิน-วิน เพราะอำนาจและบารมี ก็อยู่ในมือของพวกเขาสามพี่น้อง

แม้ว่า ที่ผ่านมา อาจจะมีบางเรื่อง บางครั้งที่อาจทำให้ต้องขัดใจกัน ก็คงมีบ้าง แต่หากเป็นความขัดแย้งกันถึงขั้น “แตกหัก” แยกวง หากเป็นแบบนั้นจริงก็ต้องถือว่าหายนะอย่างที่ว่าไว้ เพราะนั่นเท่ากับว่า ทั้ง “สาม ป.” จบเห่ รัฐบาลพังครืน และในที่สุดก็คือ พรรคพลังประชารัฐ จะจบเห่ แยกย้ายกันทางใครทางมัน

ขณะเดียวกัน หากโฟกัสกันเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ หากลากยาวไปถึงการเลือกตั้งคราวหน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ไปต่อ หรือไปตั้งพรรคใหม่ มีการแตกหักกัน โดยที่ พล.อ.ประวิตร ยังเป็นหัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังเป็นเลขาธิการพรรค หรือยังมีบทบาทในพรรคต่อไป ยังมั่นใจได้หรือไม่ พรรคนี้จะยังเป็นพรรคใหญ่ และมีอะไรเป็นจุดขายหรือมี “กระแส” แบบไหน จะขาย “นาฬิกาเพื่อน” และ “ขายแป้ง” อย่างนั้นหรือ

เพราะต้องปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า การเลือกตั้งคราวที่แล้วส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก ก็มาจาก “กระแสลุงตู่” แน่นอนว่า ในหลายพื้นที่มี ส.ส.เข้ามา เพราะศักยภาพส่วนตัวยาวนาน ก็ไม่ปฏิเสธ แต่สำหรับหลายพื้นที่ เช่น ในภาคใต้ ที่ได้มาถึง 14 ที่นั่ง เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฐานเสียงมานาน หรือในพื้นที่ภาคตะวันออกบางจังหวัด หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่น่าจะปฏิเสธความจริงแบบนี้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปัจจุบันถือว่าเป็นช่วง “ขาลง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากอยู่ในอำนาจมานานกว่า 7 ปี และมาเจอกับวิกฤตโรคระบาดโควิดอันยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบเข้าอย่างจัง แต่หากพิจารณากันในความเป็นจริง ประเทศไทยก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปเมื่อเทียบเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังมี “แฟนคลับ” ที่ยังหนาแน่นอยู่ไม่น้อย

ดังนั้น หากให้สรุปแบบรวบยอดที่หลายคนกำลังสงสัยกันว่า “สอง ป.” กำลังขัดแย้ง หรือถึงขั้น “แตกกันแล้ว” พิจารณาตามสถานการณ์ นาทีนี้ยังประเมินว่า “ไม่น่าเป็นไปได้” เพราะนั่นเท่ากับว่า เป็นการ “ฆ่าตัวตาย” เป็นความหายนะของทั้ง “สาม ป.” โดยพลัน เพราะในความเป็นจริง ทั้งคู่ต้องพึ่งพากัน แบ่งแยกบทบาท เพียงแต่ว่าในอนาคตจะได้เห็นบทบาทใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในลักษณะนักการเมือง มีการเข้าหา ส.ส.มีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐมากขึ้น เพื่อป้องกัน “ขาลอย” เท่านั้นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น