เมืองไทย 360 องศา
หลังจากผ่านศึกซักฟอกมาแล้ว สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้ว่าได้รับเสียงโหวตด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เกินครึ่งมาได้กว่ายี่สิบเสียง เรียกว่า “ผ่านได้ไม่ยาก” แต่ขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เรียกว่า “ต้องลุ้น” หรือทำให้เกิดความหวั่นไหวในใจกันพอสมควร เพราะเหมือนกับว่ามีความเคลื่อนไหว “ท้าทายอำนาจ” โดยเฉพาะการโฟกัสเข้าไปในพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลนั่นเอง
แน่นอนว่า ปรากฏการณ์หรือความเคลื่อนไหวในลักษณะแบบนี้ย่อมไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะว่าไปแล้วเป้าประสงค์ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรืออีกด้านหนึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นพรรคที่ต่อเนื่องมาจากยุค คสช.และถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหามาตลอดว่า นี่คือ อีกกลไกหนึ่งสำหรับเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ
ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารพรรคครั้งใหญ่ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ครั้งแรกหลังการยกทีมลาออกของกลุ่มที่เรียกว่า “สี่กุมาร” ในยุคที่มี นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรค เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค และล่าสุด เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง โดยคราวนี้ขยับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มาเป็นเลขาธิการพรรค และดัน นายอนุชา นาคาศัย เป็นรองหัวหน้าพรรค
นั่นคือ ภาพใหญ่ที่ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และหากให้จับตาก็ต้องบอกว่า ในสถานการณ์ล่าสุดนี้ต้องโฟกัสไปที่ “กลุ่มสามมิตร” ที่นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นแกนหลัก กับกลุ่มที่เรียกว่า “4(-1)ช.” ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค เป็นแกนนำสำคัญ
โดย ก่อนหน้านี้ เดิม “กลุ่ม 4 ช.” หรือกลุ่มรัฐมนตรีช่วยว่าการ อันประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส แล้ว ก็มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการพรรค นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลูกชายของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เหรัญญิกพรรค ถือว่ามีความโดดเด่น มีบทบาทขึ้นมาแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ถูกเลือกมาจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จนสามารถเบียด นายอนุชา นาคาศัย ขึ้นไปเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยใช้เวลาไม่นานนัก
แน่นอนว่า ร.อ.ธรรมนัส ถูกวางบทบาทในฐานะ “แม่บ้าน” ของพรรค หลังจากสร้างบทบาทโดดเด่นในช่วงการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ที่ทำให้พรรคได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมา ทั้งที่จะว่าไปแล้วในเรื่อง “ภาพลักษณ์” ภายนอกจะถูกมองในลักษณะ “สีเทา” มาตลอด และยังวางเป้าหมายไว้ว่า เป็นการวางบทบาทสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคพลังประชารัฐอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ การเติบโตของพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะจากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ เป็นเพราะ “กระแสลุงตู่” เป็นแรงส่ง ถึงขนาดเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ถือว่าเป็นฐานเสียงแน่นปึ้กของพรรคประชาปัตย์ มาได้หลายเขต
ขณะที่ “กลุ่มสามมิตร” ที่มี “สุริยะ-สมศักดิ์-อนุชา” เป็นแกนนำ แม้ว่าในช่วงที่ “กลุ่ม 4 ช.” ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหอกก้าวขึ้นมามีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ พวกเขาก็จำต้องลดบทบาทลงเหมือนกับ “ซุ่มรอดูจังหวะ” อีกด้านหนึ่งก็เหมือนกับการ “รักษาอาณาเขต” ที่มีเอาไว้ไม่ให้ถูกรุกล้ำเข้ามาได้อีกอะไรประมาณนั้น
แต่เมื่อ “โอกาสเปิด” จากเกมเคลื่อนไหว “ท้าทายอำนาจ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมีการกดดันรุกล้ำไปยังเครือข่าย “3 ป.” ที่มีเป้าหมายที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้ได้เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเดินเกม “ปกป้อง” พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาจาก “กลุ่มสามมิตร” รวมไปถึง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการพรรค ที่เคยอยู่ใน กลุ่ม 4 ช. ที่เห็นบทบาท “แยกวง” และผนึกกำลังกับกลุ่มสามมิตร ดังที่ปรากฏภาพในห้องประชุมสภา ช่วง “วันสุกดิบ” ก่อนวันลงมติในญัตติซักฟอก
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา มีภาพปรากฏให้เห็นว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลานานนับชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งเป็นการพบกันหลังการลงมติซักฟอก และก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีแบบ “พร้อมหน้า” เป็นครั้งแรกในวันรุ่งขึ้น หลังจากใช้วิธีประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มานานกว่า 5 เดือน
อีกทั้งยังได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ออกมาแบบ “แยกวง” ชัดเจน นั่นคือ จาก “4 ช.” เหลือเพียง “3 ช.” นั่นคือ ไม่มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ ร่วมก๊วน
จากภาพความเคลื่อนไหวที่ปรากฏดังกล่าวหากต่อ “จิ๊กซอว์” เป็นภาพใหญ่แล้วจะเห็นการคืนบทบาทเด่นอีกครั้งของกลุ่ม “สามมิตร” และ นายสันติ ซึ่งจะว่าไปแล้วหากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ตั้งแต่แรกแล้วถือว่าเขาก็มีความเชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ
ดังนั้น แม้ว่า นาทีนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนในทันที เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปเร็วมาก อีกทั้งเชื่อว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คงไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมมากนัก เพราะไม่เกิดผลดีต่อรัฐบาล แต่หากจะให้คาดการณ์ล่วงหน้าก็น่าจะได้เห็นบทบาทที่มากขึ้นของกลุ่มสามมิตร อย่างน้อยก็น่าจะเป็นไปในลักษณะ “บาลานซ์ออฟพาวเวอร์” หรือถ่วงดุลภายในพรรคพลังประชารัฐ คงจะ “ไม่ทิ้งน้ำหนัก” ไปกับคนใดคนหนึ่งเหมือนกับที่ผ่านมาแน่นอน !!