xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นเลือกตั้งโชยแรง รัฐบาลสูตรเดิม !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - อนุทิน ชาญวีรกูล - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา

“ขณะนี้ กกต.ได้จัดทำร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ทั้ง 2 ฉบับนั่นคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เสร็จสิ้นแล้วแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ก่อน และจะนำไปรับฟังความคิดเห็นตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะเสนอมาให้ ครม.ประมาณช่วงเดือน ธ.ค.64 จากนั้นจะมีการส่งไปให้สภาพิจารณาประมาณช่วงเดือน ม.ค.65

คาดว่าจะพิจารณาวาระที่ 1 - 2 ช่วงเดือน ก.พ.65 เสร็จแล้วในเดือน มี.ค.65 สภาจะต้องส่งให้ กกต.ตรวจสอบรายละเอียดภายใน 15 วัน ซึ่ง กกต.จะต้องตอบกลับภายใน 10 วัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน เม.ย.65 อาจจะต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อแก้ไขรายละเอียดตามที่ กกต.เสนอกลับมา และลงมติวาระ 3 โดยจะใช้เวลาประมาณ 25 วัน ก่อนส่งร่างกฎหมายให้รัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เว้นแต่จะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ที่จะต้องรออีก 1 เดือน และเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ร่างกฎหมายจะอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน ซึ่งจะตรงช่วงเดือน ก.ค.65”

“เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับแล้ว ก็อาจจะมีแรงกดดันมายังรัฐบาลเพื่อให้มีการยุบสภา เนื่องจากกฎหมายลูกเสร็จแล้วสามารถจัดการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ ในเดือน ส.ค.65 รัฐบาลจะเจอประเด็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หากเริ่มนับปีแรกของการดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ปี 57 แต่เรื่องนี้ เมื่อถึงเวลาค่อยคุยกัน”

นั่นเป็นรายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี “มือกฎหมาย”ของรัฐบาลที่รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมาถึงไทม์ไลน์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับดังกล่าว ว่าน่าจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมปีหน้า

หากพิจารณาจากคำพูดข้างต้นมันทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอย่างน้อยสองเรื่องสำคัญก็คือ การ “ยุบสภา”และ “การเลือกตั้ง” ซึ่งทั้งสองอย่างดังกล่าวมันก็ต่อเนื่องและสัมพันธ์กันแบบแยกไม่ออกเสียด้วย

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาไทม์ไลน์ข้างต้น ที่นายวิษณุ เครืองาม กางให้ดูว่าหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ในราวเดือนกรกฎาคมปีหน้า และคาดว่าจะมีแรงกดดันให้มีการเลือกตั้งมากขึ้น ดังนั้น หากนับช่วงเวลาจากปัจจุบันไปจนถึงเดือนกรกฎาคมที่ว่า มันก็เหลือเวลานับถอยหลังอีกราว 8-9 เดือนเท่านั้น

ขณะเดียวกันเมื่อได้เห็นการเคลื่อนไหวจากฝ่ายการเมืองต่างๆทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เริ่มเคลื่อนไหวเปิดตัวกันคึกคักมากขึ้น ราวกับว่า “ได้กลิ่น” การเลือกตั้งชัดเจนมากขึ้น

อีกทั้งในไทม์ไลน์ดังกล่าวของ นายวิษณุ เครืองาม ยังระบุอีกว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ถัดมาในช่วงเดือนสิงหาคม ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญทางการเมืองสมทบเข้ามาอีกนั่นคือ “สถานะ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ที่มีการสงสัยกันว่า “นับวาระ” กันตอนไหน ถึงไหน นั่นคือจะนับจากปี 57 ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็จะครบกำหนดวาระไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 64 ขณะที่อีกความเห็นหนึ่งอ้างว่าต้องนับตั้งแต่ปี 62 หลังการเลือกตั้ง ซึ่งก็ยังเหลือเวลาให้สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีก 5 ปี

แต่ถึงอย่างไรก็แสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนกรกฎา-สิงหาฯ มันเป็นช่วงเวลาสำคัญแบบ “เข้าด้ายเข้าเข็ม” จริงๆ เพราะในที่สุดแล้วสำหรับข้อสงสัยในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯเชื่อว่าจะต้องมีการส่งตีความให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอยู่ดี และแม้ว่าหลายคนจะเชื่อว่าในทางกฎหมายแล้วน่าจะออกมาอย่างหลัง นั่นคือ “ยังเหลือวาระอีก 5ปี” แต่ก็อย่างว่าในแง่มุมทางการเมืองก็ต้องเล่นกันทุกทางอยู่แล้ว

นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่ต้องจับตาต่อเนื่องกันก็คือความเคลื่อนไหวในพรรคร่วมรัฐบาลที่หากพิจารณาจากความสัมพันธ์ในเวลานี้ถือว่ายังมี “ความแนบแน่น” แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ลักษณะเหมือนกับว่ายังเป็นการ “รวมกันแบบหลวมๆ” อยู่เช่นเดิม

แม้ว่าในทางการเมืองไม่มีอะไรถาวร แต่หากพิจารณาในแง่ผลประโยชน์ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลหลัก ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ที่นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประชาธิปัตย์ นำโดย นายจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นาทีนี้ยังถือว่า “วิน วิน” และเชื่อว่าหากพิจารณาในภาพรวมต่อเนื่อง พวกเขายังน่าจะร่วมกันเป็น “พันธมิตรแบบหลวมๆ” และนั่นถึงได้ประเมินในเบื้องต้นว่ามีโอกาสที่รัฐบาลหน้ายังเป็น “สูตรเดิม” อยู่ดี!!


กำลังโหลดความคิดเห็น