xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เคลียร์ทาง สัญญาณชัด “ไปต่อ” !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา



จะเรียกว่าเป็นการ ”ส่งสัญญาณชัด” เป็นครั้งแรก ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า มีความประสงค์ที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งคราวหน้า

สัญญาณที่ว่าชัดดังกล่าว พิจารณาจากคำพูดของ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย กรณีจะให้ฝ่ายกฎหมายยื่นตีความวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หรือไม่ เพราะฝ่ายค้านออกมาแถลงยืนยันความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวในเดือนสิงหาคม 2565 ว่า นายกฯชี้แจงว่า ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย พิจารณาว่าควรดำเนินการหรือไม่ อย่างไร

เมื่อถามว่า นายกฯ เต็มใจให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า “นายกฯ ชี้แจงว่า ก็ยินดี ขอบคุณที่พรรคพลังประชารัฐให้ความไว้วางใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งหน้า”

จากคำพูดดังกล่าวทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลานี้ และต่อเนื่องไปในอนาคตอันใกล้ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของเขา ในความหมายที่เป็นคำตอบว่า ต้องการ “ไปต่อ” นั่นคือ มีความประสงค์ที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งคราวหน้า ที่จะครบวาระในปี 2566

ก่อนหน้านี้ ไม่กี่วันพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ประกาศว่า พรรคจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกครั้ง ซึ่งต่อมา พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า เขาเป็นคนเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ และมีแนวโน้มว่าจะเสนอชื่อเพียง “ชื่อเดียว” เหมือนกับคราวที่แล้ว

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือ แง่มุมทางกฎหมายที่ฝ่ายค้าน ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงเดือนสิงหาคมปี 2565 เท่านั้น เนื่องจากครบกำหนด 8 ปี ตามที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60

ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ยังสามารถดำรงตำแหน่งไปจนถึงปี 70 เนื่องจากเพิ่งรับตำแหน่งนายกฯในปี 62 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีผลย้อนหลัง

อย่างไรก็ดี มีความพยายามให้เสนอตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อความชัดเจน ซึ่งมีอยู่สองสามช่องทาง เช่น ส่งผ่านประธานสภาผู้แทนฯ แต่กรณีนี้ต้องรอให้เกิดเหตุเสียก่อน นั่นคือ ต้องรอจนถึงเดือนสิงหาคม ปีหน้า หรือไม่ก็ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นตีความ และเจ้าตัวคือ พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นโดยตรง ซึ่งสองวิธีหลัง สามารถดำเนินการได้เลย

กรณีวาระการดำรงตำแหน่ง คงต้องรอความชัดเจนอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าในเบื้องต้นจะสามารถฟันธงไว้ล่วงหน้าก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯได้จนถึงปี 2570 แต่เพื่อความชัวร์ให้เคลียร์ ไม่ต้องเถียงให้เวียนหัวก็น่าจะยื่นตีความนั่นแหละดีที่สุด ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ หรือใครเป็นคนยื่น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ที่น่าจับตาก็คือ การประกาศท่าที “ยอมรับ” การเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างน้อยก็เป็นความชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า เขาต้องการ “ไปต่อ” แม้ว่าจะพอคาดเดากันได้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม ทำให้เวลานี้มีอย่างน้อยสองสามพรรคการเมืองแล้ว ที่ประกาศเสนอชื่อ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และพรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ แม้ว่ายังไม่เป็นทางการ แต่ถือว่าชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว

วกมาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกที ที่ต้องบอกว่า “เอาแน่” โดยเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่เวลานี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งมากขึ้น ทั้งการเดินสายตรวจราชการพบปะประชาชนทั่วประเทศ และการเปลี่ยนท่าทีใกล้ชิดกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรคการเมืองอื่น เป็นภาพลักษณ์ของนักการเมืองมากขึ้น

และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ล่าสุด เขายอมเปลี่ยนแปลงคำสั่ง จากที่เคยดึง 4 กรม ของกระทรวงเกษตรฯ ที่เคยอยู่ในความดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มาอยู่ในการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้กลับมาอยู่ที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดังเดิม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเป็นการ “อ่อนข้อ” หรือยอมถอยให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการสยบปัญหารอยร้าวกับพรรคร่วมไม่ให้กินใจจนเสี่ยงบานปลาย

และยังสอดคล้องกับรายงานข่าวที่ว่า ต่อไปนี้ในทุกวันอังคารระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการนั่งหารือกันนอกรอบ ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กับบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้าใจ และเป็นเอกภาพ และยังมีความหมายไปในอนาคตหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเหมือนกับว่าเป็นการ “รวมกันหลวมๆ” เอาไว้ล่วงหน้าอะไรประมาณนั้น

แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งการแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการ “ไปต่อ” แบบนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเท่ากับว่าเขาย่อมตกเป็นเป้าโจมตี สกัดกั้น ต้องถูกดิสเครดิต ถูกด้อยค่าทุกทางจากฝ่ายตรงข้าม ดังจะเริ่มดาหน้าออกมาถล่มกันแล้ว

ดังนั้น แม้ว่าในวันข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนตามกติกาที่ต้องว่ากันไป แต่นาทีนี้ก็ได้เห็นท่าทีชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการ “ไปต่อ” เนื่องจากหากพิจารณาอย่างเข้าใจ ก็เหมือนกับว่า “ถอยไม่ได้” เพราะ “เดิมพันสูง” มาก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น