รองนายกฯ เผย ยังไม่รีบคิดปมวาระนายกฯครบ 8 ปี ชี้ถึงเวลาเมื่อไหร่ จะสะกิดบอกเองว่า “ครบแล้วครับไปเถอะ” พร้อมเชิญ เลขาฯ กกต. พบ ถามปมยกร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งสัปดาห์นี้
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า ยังไม่มีคำตอบอะไร นายกฯมอบหมายให้ตนไปดูเรื่องนี้แล้ว แต่ตนยังไม่ได้ดูและยังไม่ต้องทำอะไรในเวลานี้ รวมถึงนายกฯยังไม่มีกำหนดให้แจ้งผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวในเวลาใด ให้เฉยๆ ไปก่อน และเมื่อตนยังไม่ได้แจ้งผลกับนายกฯ จะมาบอกสื่อได้อย่างไร
โดย นายวิษณุ ได้กล่าวติดตลกว่า หากเมื่อไหร่ถึงเวลาผมจะสะกิดนายกฯว่า “ครบแล้วครับไปเถอะ” อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่ามานี้ยังทำอะไรไม่ได้เลยที่จะทำให้เกิดความชัดเจนและน่าเชื่อถือ แม้แต่การส่งศาลรัฐธรรมนูญตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนก่อนเดือนสิงหาคม ปี 65 ที่จะครบการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี หากนับตั้งแต่ปี 57 ที่เข้ามาเป็นนายกฯสมัยแรกใช่หรือไม่ ถึงจะแจ้งนายกฯ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ยังไม่เคยคิดอะไรทั้งนั้น และขอยืนยันว่า ตนไม่เคยออกมาระบุว่า การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จะนับตั้งแต่เมื่อใด เพราะยังไม่ถึงเวลา และถ้าหากจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนเดือนสิงหาคม 65 แต่ไม่ใช่ยื่นตอนนี้ เพราะถ้ายื่นตอนนี้ศาลก็บอกว่ายื่นไปทำไม และไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะไม่อยากเปิดประเด็นในตอนนี้ เนื่องจากไม่มีประโยชน์อะไร หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ใน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นนี้ต้องชัดเจนก่อนการเสนอแคนดิเดตนายกฯในการเลือกตั้งครั้งต่อไปใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้และไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น เมื่อถามถึงกรณีที่นายกฯไปพูดที่นครศรีธรรมราชว่าให้รอดูผลงานอีก 5 ปี หมายความว่าอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิบายในที่ประชุมครม.ในวันเดียวกันนี้แล้วว่า ไม่ได้หมายความว่า จะอยู่อีก 5 ปี กระแสที่ออกมาไปบิดเบือนสิ่งที่นายกฯจะสื่อสาร คือ นโยบายต่างๆ ที่ได้ทำไปจะเห็นผลในอีก 5 ปี และสิ่งที่นายกฯพูดถึงกรอบเวลา 5 ปี นั้นเป็นวงรอบของกรอบแผนปฏิรูป ไม่ได้ให้นับ 5 ปี จากปัจจุบัน
รองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนเห็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุว่าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมยกร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ผู้ที่จะเสนอกฎหมายได้มี 2 ประเภท คือ คณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ส.ส. โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ กกต. ทั้งนี้ หากพรรคพลังประชารัฐดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็อาจเกิดปัญหาขึ้น เพราะการเลือกตั้งจะกระทบกับทุกพรรค ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐต้องไปสอบถามพรรคต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลว่าเห็นชอบกับร่างที่จะเสนอหรือไม่ ไม่เช่นนั้นมันจะร่วมหัวลงโลงกันไม่ได้ เดี๋ยวจะล่มในสภา หรือต่างคนต่างยกร่างเสนอกันเองก็ได้
แต่ในส่วนของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีมีมติไปแล้วให้สอบถาม กกต.ว่าจะรับทำเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ถ้าส่งมารัฐบาลก็จะเป็นผู้เสนอสภา และภายในสัปดาห์นี้ตนได้เชิญเลขาธิการ กกต.มาพบเพื่อหารือและสอบถามว่าจะดำเนินการหรือไม่ หรือจะให้ ส.ส.เขาทำ ถ้า กกต.จะทำไทม์ไลน์จะเป็นอย่างไร ทำเมื่อไหร่ เพราะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แตกต่างจากการยกร่างของ ส.ส.ที่ไม่ต้องดำเนินการขั้นตอนดังกล่าว และ กกต.จะนำเสนอรัฐบาล เพื่อนำเข้าสภาได้เมื่อใด ซึ่งแน่นอนต้องทำภายหลังรัฐธรรมนูญมีประกาศใช้เสียก่อน ถึงจะเสนอได้ แต่ถ้าเตรียมทุกอย่างไว้ในมือ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศก็เสนอสภาได้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กกต.จะดำเนินการในเรื่องนี้ ร่างของ กกต.จะเป็นร่างหลักใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากร่างของ กกต. ยังฟังความคิดเห็นอยู่ แต่ร่างของ ส.ส.เข้าสู่สภาได้ และประธานสภาบรรจุเป็นวาระจะได้พิจารณาก่อน เพราะร่างของรัฐบาลตามไปไม่ทัน ดังนั้น ไทม์ไลน์ตรงนี้สำคัญจึงต้องเชิญ เลขาฯ กกต.มาหารือ
เมื่อถามว่า เวลาในการพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะใช้เท่าไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อแก้ไม่มากก็ไม่น่าจะใช้เวลานาน และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา ใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และความจริงก็ไม่น่าจะถึง เมื่อทำเสร็จก็ต้องส่งให้ กกต.ดูอีกครั้ง
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนจะให้ระบุตอนนี้ว่าต้องใช้เวลากี่เดือนนั้น ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่เห็นว่ามีกี่มาตรา และหากกฎหมายผ่าน ก็ต้องมีขั้นตอนเรื่องการทูลเกล้าฯ อีก 3 เดือน เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนี้ต้องใช้เวลาอีกนานถึงจะมีความพร้อมในการเลือกตั้งได้ นายวิษณุ กล่าวว่า อันนั้นสื่อพูด ผมไม่รู้ สื่อเก่งนะที่สรุปได้ขอให้คะแนน สรุปเป็นใช้ได้
เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่มีผลบังคับใช้หากมีการยุบสภาขึ้นมาแล้ว มีการเลือกตั้งจะใช้กฎหมายใด นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับว่าจะยุ่ง
เมื่อถามว่า คำว่ายุ่งนั้นหมายความว่าไม่รู้จะนับคะแนนแบบไหนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ แต่ก็มีทางออก ซึ่งสิ่งที่สื่อถามว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ จะทำอย่างไร ก็ต้องบอกว่าต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่จะนับคะแนนอย่างไรนั้นปัญหามันเล็กลงมาแล้ว มีวิธีแก้ ซึ่งคิดไว้แล้ว แต่ขอไม่บอก ทุกสถานการณ์สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าถ้าวันนี้ยุบสภาโดยที่รัฐธรรมนูญยังไม่ใช้ถือว่าง่ายกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีสูตรคำนวณ ส.ส.มีอีกหลายสูตรหรือไม่ที่ต้องหยิบมาพิจารณา นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ความจริงจะโยนให้ กกต.และ ส.ส.ไปคิดเพราะเขามีสิทธิเสนอกฎหมายรัฐบาลไม่มีสิทธิ เมื่อถามว่าการเลือกตั้งรอบหน้าการคำนวณ ส.ส.ควรชัดเจนและเข้าใจกันทั้งประเทศหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่อุตสาแก้กันมาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรที่จะทะเลาะกันเรื่องกติกา