xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยเตรียมทูลเกล้าฯ ร่างแก้ รธน.ตามกรอบ 20 วัน หวังไม่มีอุบัติเหตุ ชี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่รีบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ เผย รัฐบาลเตรียมทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไข รธน.ตามกรอบเวลา 20 วัน หวังไม่เกิดอุบัติเหตุการเมืองระหว่างรอประกาศใช้ ชี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ต้องรีบ รอสภาฯเปิดถึงพิจารณา

วันนี้ (5 ต.ค.) เวลา 16.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในมือนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. นายกฯ ต้องนำทูลเกล้าฯในกี่วัน ว่า กรอบเวลาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 คือ เมื่อสภาฯส่งมา นายกฯต้องเก็บไว้ 5 วัน ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ และเมื่อครบ 5 วัน ก็บวกไปอีก 20 วัน โดยจะทูลเกล้าฯ ภายในกรอบเวลา 20 วันนี้ เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลเตรียมนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯอยู่แล้ว ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ต้องรอ 20 วัน สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย ส่วนหากนายกฯเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขขัดกับรัฐธรรมนูญ ส.ส.และนายกฯ ที่มีสิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ตามมาตรา 148 ภายในกรอบ 20 วัน แต่เป็นการยื่นตีความตามพระราชบัญญัติ ไม่ได้ใช้กับการยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขั้นตอนจะอยู่ในช่วงเวลา 90 วันเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว

เมื่อถามว่า หากภายใน 90 วัน เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับรัฐบาล มีการเลือกตั้งใหม่จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วในมาตรา 147 ระบุว่า หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบถือว่าไม่ตกไป เว้นแต่ในระยะเวลา 90 วัน ไม่โปรดเกล้าฯลงมา ก็ถือว่าตกไป และให้สภาฯยืนยันภายใน 30 วัน และไม่ว่ารัฐบาลจะยุบสภาฯลาออก หรืออะไรจะเกิดขึ้นและถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ก็ให้ใช้ฉบับใหม่ แต่ถ้ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ และประกาศใช้ก็ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือ บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ซึ่งตนถึงบอกว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงนี้มันจะยุ่ง

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ ระหว่างที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ แม้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และ ส.ส.เตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งเขต ส.ส.และการจัดรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หากโปรดเกล้าฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมาทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมดตามกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม หากจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว 1 วัน หากมีการโปรดเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการประกาศใช้การเลือกตั้งก็ถือว่ามีผลทันที ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เมื่อถามว่า แสดงว่า นายกฯไม่มีอำนาจในการยื่นตีความรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ ขอตอบแค่ว่าใช้กับพระราชบัญญัติเท่านั้น ส่วนกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ไปยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะการยื่นกับผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลา แต่ก็เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะรับหรือไม่

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญมีการเขียนไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งพระราชบัญญัติภายใน 90 วัน ในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ก็มีจำนวน 3 ฉบับ ขณะที่หลายประเทศก็มีการยับยั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา.

รองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงเรื่อง พ.ร.ก.โรคติดต่อ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเอาเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่ เพราะถ้าเสนอเป็นพระราชบัญญัติก็รอให้สภาฯเปิดและเสนอเข้าเป็น พ.ร.บ.ปฏิรูปเข้าสองสภาฯพิจารณาร่วมกัน

เมื่อถามว่า ไม่ได้รีบร้อนอะไรใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็รีบเหมือนกัน แต่ขณะนี้ไม่มีประชุมสภาฯ มันสามารถแก้ปัญหาไปได้ด้วยพระราชบัญญัติ และถ้าออกเป็นพระราชกำหนดเร็วไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุว่าการออกพระราชกำหนด หากอยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุมให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญ ดังนั้น ไม่ต้องรีบอะไร ไม่เห็นมีอะไรเดือดร้อน หรือเร่งรีบสักเรื่อง ประกาศฉุกเฉินก็ยาวไปจนถึงเดือน พ.ย.อยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น