เมืองไทย 360 องศา
ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมาบรรดาแกนนำพรรคโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคได้ย้ำว่าปัญหาทุกอย่างได้จบไปแล้ว ทุกฝ่ายกำลังทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อขับเคลื่อนพรรคไปข้างหน้าโดยเฉพาะรองรับไปถึงการเลือกตั้งคราวหน้าที่ต้องมาถึง
อย่างไรก็ดีล่าสุดก็ได้ปัญหาที่ทำให้เกิดความระแวงและสร้างความไม่พอใจให้กับส.ส.ในพรรคหลายคน จากกรณีที่มีการทำโพล หรือการสำรวจความนิยมในตัวส.ส.แต่ละคนในพื้นที่เพื่อนำมาประเมินสำหรับการพิจารณาส่งสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า
มีการอ้างรายงานข่าวว่า ได้ทำการสำรวจ ส.ส.ของพรรคในภาคใต้ทุกจังหวัด จำนวน 14 คน และมีการอ้างว่ามีโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าข่าวนี้ย่อมสร้างความปั่นป่วนขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะย่อมสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับบรรดาส.ส.ของภาคใต้ ที่ถูกมองว่าส่วนใหญ่ไม่มีผลงาน ไม่ได้รับความนิยม ไม่มีฐานเสียงของตัวเอง เป็นต้น
แม้ว่ามีคำอธิบายว่าเป็นการสำรวจความนิยม เป็นการติดตามผลงานของส.ส.ตามปกติ ซึ่งเกือบทุกพรรคก็ทำกันแบบนี้ อีกทั้งยังเป็นการสำรวจในทางลับเป็นการภายใน อย่างไรก็ดี น่าสังเกตก็คือกลับมีการเผยแพร่ออกมาให้ภายนอกได้รับรู้ ซึ่งเหมือนกับว่าเป็นการจงใจเพื่อหวังผลในทางการเมืองบางอย่าง โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงที่ยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างกลุ่มก๊วนต่างๆ หลายกลุ่มในเวลานี้
แน่นอนว่าหากไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐย่อมยืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่เมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาภายในพรรคก่อนหน้านี้ หลังจากรายงานผลสำรวจดังกล่าวออกมา เช่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่แสดงออกในแบบไม่ใส่ใจ รวมทั้งยังแสดงความแปลกใจว่าทำไมถึงมีการเผยแพร่ออกไปข้างนอก หากเป็นเรื่องภายในพรรค
อย่างไรก็ดี กลับเป็นเรื่องตรงข้ามเมื่อฟังจากปากของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ที่ยอมรับว่าเป็นการสำรวจเพื่อสำรวจความนิยม เป็นเหมือนกับการตรวจสอบว่าที่ผ่านมา ส.ส.ได้มีการลงพื้นที่มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย และอีกด้านหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นให้ส.ส. ได้ปิดจุดอ่อน ขยันลงพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้เกิดผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เขาอ้างว่าการทำโพลดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ย่อมหมายถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นเอง และยังมีการอ้างอีกว่า มี ส.ส.บางคนทิ้งพื้นที่ และอาจมีผลต่อการพิจารณาส่งลงรับสมัครเลือกตั้งในคราวหน้าอีกด้วย และที่ผ่านมายังมีรายงานปรากฏออกมาให้เห็นว่า ร.อ.ธรรมนัส ยังได้ส่งข้อความเข้าไปในไลน์กลุ่ม ย้ำว่าทำตามคำสั่งหัวหน้าพรรคอีกด้วย
อย่างไรก็ดีล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมปฏิเสธว่า “ยังไม่ได้สั่งให้ทำ แต่คิดไว้ว่าจะทำ” เมื่อถามว่า การทำโพล ถือเป็นการประเมิน ส.ส.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่รู้ เพราะว่ายังไม่มีการเลือกตั้ง จะไปทำโพลทำไม คนไหนทำก็ไปถามคนนั้น
เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีผลเสียอะไรใช่หรือไม่ ถ้าจะมีการทำโพลก่อนล่วงหน้า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่รู้ เพราะผมไม่ได้เป็นคนทำ” ส่วนผลทำโพลพบว่า ส.ส.ใต้สอบผ่านเพียง 4 คนจาก 14 คนนั้น พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า “คุณเอามาจาก ใครเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ไปถามคนที่เคลื่อนไหว”
เมื่อถามอีกว่า มีกระแสข่าวพุ่งโจมตีไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ว่าเป็นคนทำโพลประเมิน ส.ส. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่ได้ทำ ทำไม่ได้ ผมไม่ได้สั่งแล้วใครจะทำ” ส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องทำหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เอาไว้ใกล้ๆ ก่อน แต่ส.ส.เก่าต้องได้ลง ฉะนั้นจะไปทำ ทำไม”
เมื่อออกมาแบบนี้มันก็ต้องมีใครสักคนที่พูดไม่จริง หรือแบบที่ว่า “เซฟบางคน” เอาไว้ไม่ให้เกิดการกระเพื่อมภายในพรรค เพราะในเมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่าเป็นคำสั่งของหัวหน้าพรรคให้ทำโพล แต่กลายเป็นว่าเจ้าตัวยืนยันว่า “ยังไม่สั่งทำ” แบบนี้หมายความว่าอย่างไร เป็นการดำเนินการโดยพลการอย่างนั้นหรือไม่ และเป็นการทำเพื่อเจตนาหวัง “เช็กบิล” ฝ่ายตรงข้าม หรือบีบให้มาสังกัดขึ้นตรงกับก๊วนพวกเขาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีคนที่มีท่าทีสนับสนุนชัดเจนก็คือ นายไผ่ ลิกค์ รองเลขาธิการพรรค ซึ่งรับรู้กันว่าอยู่ในก๊วนเดียวกัน
ขณะเดียวกันหากยังจำกันได้เมื่อครั้งเกิดกรณีมีความเคลื่อนไหวเพื่อ “ล้มประยุทธ์” เมื่อครั้งถูกพรรคฝ่ายค้านเปิดซักฟอก และนำไปสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่คราวนั้น ร.อ.ธรรมนัส ปฏิเสธการเคลื่อนไหว และยังประกาศว่า รู้ตัวคนที่ยุแยง ถึงกับประกาศกร้าวว่าจะไม่ให้ลงสมัครส.ส.ในสมัยหน้า
แน่นอนว่าความหมายในคำพูดคราวนั้น น่าจะพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ในพรรค ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส แล้วก็ยังมีกลุ่ม ภาคตะวันออกและภาคกลาง กลุ่มสามมิตร เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มส.ส.ภาคใต้ ที่เวลานี้ถือว่าเป็น “กลุ่มอิสระ” ที่ยังไม่ได้สังกัดกลุ่มไหน เพียงแต่ว่าพวกเขาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะต้องยอมรับกันว่า การได้รับเลือกตั้งที่ผ่านมาในภาคใต้ส่วนใหญ่มาจากกระแสของ “ลุงตู่” รวมไปถึงในกรุงเทพฯ อีกด้วย
ดังนั้นหากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวภายในพรรคพลังประชารัฐ ย่อมมองเห็นชัดเจนว่าความขัดแย้งยังคงคุกรุ่น และเสี่ยงที่ระเบิดได้ตลอดเวลา และผลจากการสำรวจในครั้งนี้ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคต้องออกมา “เบรก” เพื่อให้ยุติปัญหาเอาไว้ชั่วคราว
แต่อีกด้านหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า นี่คือความพยายาม “รุก”เข้ามาของ “ก๊วนธรรมนัส”เพื่อต้องการบทบาท อย่างน้อยก็ต้องการเป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือกส.ส.ลงสมัครคราวหน้า เพราะนั่นยังหมายถึงการต่อรองกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ ในอนาคตหรือไม่ !!