xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จับพิรุธ 7 ข้อ อภ.ทำสัญญาจัดซื้อ ATK กับเวิลด์ เมดิคอลฯ หากรับของ-จ่ายเงิน ผิดทั้งแพ่งและอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” ตั้งข้อสังเกต 7 ประเด็นการ อภ.ทำสัญญาจัดซื้อ ATK กับ เวิลด์ เมดิคอลฯ ผิดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หากมีการรับของและจ่ายเงิน ทั้ง อภ.และ สปสช.จะมีความผิดทางอาญาและทางแพ่ง ระบุยิ่งแก้ตัวยิ่งมัดตัวเอง ผู้ยื่นซองเสนอราคาและชนะประมูลคือออสท์แลนด์ฯ มิใช่ เวิลด์ เมดิคอลฯ ที่เป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย

วันนี้ (4 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ตั้งข้อสังเกต 7 ประเด็นเกี่ยวกับการทำสัญญาจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ข่าวสื่อมวลชนวันที่ 3 ก.ย. 2564 ที่บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหา เซ็นสัญญาจัดซื้อ ATK ส่อทุจริตนั้น ดิฉันมีข้อพิจารณาต่อข้อมูลที่ปรากฏในข่าวดังนี้

1. เอกสารที่ เวิลด์ เมดิคอลฯ นำมาแสดงเป็นเพียงหนังสือรับรองว่า เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้แทนจำหน่าย ATK ของ ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ทำให้ เวิลด์ เมดิคอลฯ มีสิทธิที่จะขาย ATK ได้ แต่การขายให้ อภ.ต้องปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญเสนอราคาเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นซองเสนอราคา ออสท์แลนด์ฯ เป็นบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญเสนอราคา ดังนั้นออสท์แลนด์ฯ เท่านั้นที่มีสิทธิยื่นซองเสนอราคา ซึ่งออสท์แลนด์ฯ ก็ได้ยื่นซองเสนอราคาและชนะการคัดเลือกตามภาพถ่ายการนับคะแนน

เมื่อ ออสท์แลนด์ฯ ชนะการคัดเลือก อภ.ต้องทำสัญญากับออสท์แลนด์ฯ การทำสัญญากับ เวิลด์ เมดิคอลฯ ถือเป็นการทำสัญญากับบริษัทที่ไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก และไม่ได้รับการคัดเลือก เป็นการทำสัญญาผิดตัวซึ่งไม่มีผลให้เกิดสัญญาระหว่าง อภ.กับ เวิลด์ เมดิคอลฯ อภ.จะรับมอบ ATK และ สปสช.จะจ่ายเงินไม่ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่ง ใช่หรือไม่

2. การที่ เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากออสท์แลนด์ฯ ให้ยื่นซองเสนอราคาและนำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 6 ส.ค. 64 มาแสดงนั้น หนังสือมอบอำนาจที่นำมาแสดงนั้นเป็นหนังสือที่ เวิลด์ เมดิคอลฯ มอบอำนาจให้ผู้แทนบริษัท มีอำนาจเสนอราคา ไม่ใช่หนังสือแสดงว่าออสท์แลนด์มอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอล ยื่นซองเสนอราคาแทนตน

3. แต่ถ้าออสท์แลนด์ฯ ได้มอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอลฯ ยื่นซองเสนอราคาแทนตนจริงตามคำแถลงข่าวของเวิลด์ เมดิคอลฯ ก็ยิ่งเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าผู้ยื่นซองเสนอราคาที่แท้จริง คือ ออสท์แลนด์ฯ โดยมอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ อภ.ต้องทำสัญญากับออสท์แลนด์ฯ ซึ่งเป็นตัวการตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เป็นคู่สัญญาต้องเป็นออสท์แลนด์ฯ มิใช่ เวิลด์ เมดิคอลฯ

การให้ เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นคู่สัญญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำสัญญาผิดตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีผลให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นคู่สัญญา อภ.จะรับมอบ ATK และ สปสช.จะจ่ายเงินไม่ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดอาญาและต้องรับผิดทางแพ่งใช่หรือไม่

4. ที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่าเป็น Joint Venture กับ ออสท์แลนด์ฯ นั้น ถ้าเป็นความจริงเหตุใดจึงไม่นำ Joint Venture Agreement และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีที่ออกให้โดยกรมสรรพากรในฐานะกิจการร่วมค้า (Joint Venture) มาแสดง และเหตุใด อภ.จึงไม่ทำหนังสือเชิญเข้ารับการคัดเลือกในการจัดซื้อ ATK ส่งถึง Joint Venture

ออสท์แลนด์ฯ และ เวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า เหตุใดมีหนังสือเชิญเข้ารับการคัดเลือกส่งถึงออสท์แลนด์ฯ ซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษี (Tax Entity) แยกต่างหากจากกันกับกิจการร่วมค้า ดังนั้น ที่ เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่าเป็น Joint Venture กับ ออสท์แลนด์ฯ จึงไม่น่าจะเป็นความจริง และขัดกับ Certification of Authorized Distributor ที่ระบุว่าเวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย (Distributor) ของออสท์แลนด์ฯ เท่านั้น มิได้มีฐานะเป็น Joint Venture กับออสท์แลนด์ฯ แต่อย่างใด

5. สรุปแล้วความจริงน่าจะเป็นกรณีออสท์แลนด์ฯ ได้รับหนังสือเชิญให้เข้ารับคัดเลือกเพื่อเสนอขาย ATK ให้แก่องค์การเภสัชกรรม และออสท์แลนด์ฯ ได้ยื่นซองเสนอราคาตามหนังสือเชิญและเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แต่องค์การเภสัชกรรมทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งเป็นการทำสัญญาผิดตัว ไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่อาจรับมอบสินค้าและจ่ายเงินค่าสินค้าได้

6. องค์การเภสัชกรรมและเวิลด์ เมดิคอลฯ ยิ่งแก้ตัว ยิ่งมีหลักฐานมัดตัวเอง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความจริงบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญจากองค์การเภสัชกรรมเข้าเสนอราคาขาย ATK คือ ออสท์แลนด์ฯ และบริษัทที่ยื่นซองเสนอราคาคือออสท์แลนด์ฯ และบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกโดยมีคะแนนสูงสุดก็คือออสท์แลนด์ฯ เช่นเดียวกัน มิใช่เวิลด์เมดิคอลฯ

แต่มีการทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งมิได้เป็นบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญ และมิได้เป็นบริษัทที่ยื่นซองเสนอราคา ทั้งมิได้เป็นบริษัทที่ปรากฏชื่อในการการเปิดซองและตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการคัดเลือกการซื้อ ATK ขององค์การเภสัชกรรม

เวิลด์ เมดิคอลฯ จึงไม่อาจเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมได้ การเป็นคู่สัญญาระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับเวิลด์ เมดิคอลฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้องค์การเภสัชกรรมต้องรับมอบ ATK จากเวิลด์ เมดิคอลฯ และไม่อาจจ่ายเงินให้เวิลด์ เมดิคอลฯ หรือออสท์แลนด์ฯ ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่งใช่หรือไม่

7. กรณีที่เกิดขึ้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าเวิลด์ เมดิคอลฯ หรือ ออสท์แลนด์ฯ จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากองค์การเภสัชกรรมและรัฐต้องเสียค่าโง่เหมือนกรณีอื่นๆ เพราะตามข้อเท็จจริงมีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สมรู้ร่วมคิดด้วย เป็นกรณีทำนองเดียวกับคดีค่าโง่คลองด่านที่ในที่สุด รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าโง่ประมาณ 10,000 ล้านบาทและผู้บริหารของคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษต้องติดคุกเช่นเดียวกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและพวก

จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานตรวจสอบภายในกรมบัญชีกลาง และ สตง.ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อเงินแผ่นดิน และทำความชัดเจนต่อสาธารณชนด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น