xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ยื่น สตง.- กรมบัญชีกลาง สอบ อภ.ปล่อย “เวิลด์ เมดิคอลฯ” สวมสิทธิทำสัญญา ATK แทน “ออสท์แลนด์ฯ” ผิด กม.หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” ยื่น สตง.และ กรมบัญชีกลาง ตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม ทำสัญญาจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด กับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ แทน “ออสท์แลนด์ฯ” ที่ชนะการประมูล ถือว่าผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ หรือไม่ เพราะเป็นคนละนิติบุคคลกัน แม้ เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายของออสท์แลนด์ฯ ก็ตาม

วันนี้ (2 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ สตง.และ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ขอให้ทั้ง 2 หน่วยงานตรวจสอบการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ที่องค์การเภสัชกรรมให้บริษัทที่ไม่ได้เข้าประมูล ไม่ได้ชนะการประมูล ซึ่งไม่สามารถลงนามเป็นคู่สัญญามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยดิฉันส่งเป็นหนังสือด่วนลงทะเบียนตอบรับ

เนื้อหาในหนังสือทั้งสองฉบับมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก และในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 องค์การฯ ได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท (จากที่เชิญไป 24 บริษัท) เข้าร่วมเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้น แล้วพบว่า มีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคา ปรากฏว่า บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ตามเอกสารแนบ (1) และ (2)

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 องค์การเภสัชกรรมได้ออกเอกสารตามแนบ (3) ว่า ได้ทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นหลักฐานชัดแจ้งว่า องค์การเภสัชกรรม มิได้ทำสัญญาซื้อ ATK กับ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งมิใช่บริษัทที่ชนะการประมูล แม้บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จะเป็นผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ออสท์แลนด์ฯ องค์การเภสัชกรรมก็ไม่สามารถทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เพราะบริษัท เวิลด์ เมดิคอล ฯ เป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัท ออสท์แลนด์ฯ และไม่ได้เสนอตัวเข้าประมูล ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ตามบทบัญญัติว่า “ให้หน่วยงานของรัฐกําหนดเป็นเงื่อนไขในประกาศและเอกสารเชิญชวนว่าผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอต้องแสดงหลักฐานถึงขีดความสามารถและความพร้อมที่ตนมีอยู่ในวันยื่นข้อเสนอด้วย” และตามที่ อภ.ให้ข่าวว่าคณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท

บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ไม่ได้เข้าร่วมเป็นผู้ประมูล และไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูล จึงเป็นผู้ที่ไม่สามารถลงนามเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมได้

ข้าพเจ้าเห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ATK ขององค์การเภสัชกรรมน่าจะไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 และกฎหมายกับระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจทำให้รัฐเกิดความเสียหายในอนาคต

จึงขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน/กรมบัญชีกลาง เข้ามาตรวจสอบก่อนที่จะเกิดกระบวนการส่งมอบ ATK ซึ่งจะส่งมอบภายใน 14 วัน หลังจากการลงนามสัญญา








กำลังโหลดความคิดเห็น