xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”จี้ สตง.สอบระบบรางรถไฟฟ้าทั่วกรุงก่อมลพิษทางเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เดินทางมาที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่า สตง. เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายังสมาคมฯ บ่อยครั้งมากว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสียงดัง และความสั่นสะเทือนจากการเดินรถของรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ล่าสุดคือหมู่บ้านกลางเมือง ปิ่นเกล้า-จรัญฯ ใกล้รถไฟฟ้าสายสีแดงของ รฟท. ซึ่งได้ก่อปัญหามลพิษทางเสียง และความสั่นสะเทือนรบกวนการหลับนอนและการพักผ่อนของชาวบ้านอย่างมาก แม้เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ไม่เห็นแก้ปัญหาให้แต่อย่างใด

เนื่องจากปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้นหลาย 10 เส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งที่เปิดให้บริการแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เมื่อมีการเปิดการเดินรถไฟฟ้าวิ่งผ่านจะเกิดเสียงจากแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เป็นมลภาวะทางเสียงและแรงสั่นสะเทือน ซึ่งบริเวณที่มีเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าตัดผ่านนั้น มีหลายจุดที่เป็นพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องการความเที่ยงตรงสูงอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือน และเสียงที่กระทบต่อผู้ป่วย ตลอดจนรบกวนการทำงาน และการอยู่อาศัยของเคหสถาน และสถานที่ราชการต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่พักอาศัยสองข้างทางรถไฟฟ้าในยามวิกาลจะได้รับผลกระทบจากเสียง และแรงสั่นสะเทือน ยังส่งผลต่อตัวอาคารและสถานที่ เช่น โรงเรียน วัด สถานที่ทางศาสนา และ โบราณสถานต่างๆ ด้วย

จากปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องสามารถป้องกันบรรเทาได้ ด้วยการออกแบบและแก้ไขปรับปรุงทางวิศวกรรม จากงานวิจัยหลายฉบับของ International union of railways (UIC) เช่น Railway Noise in Europe (2016) และ Noise Reduction in Rail Freight (2007) พบว่ามีแนวทางการลดค่าระดับเสียงได้ด้วยปรับเพิ่มความแข็งแรงของแผ่นรองราง (Rail Pad Stiffness) เพื่อลดการสั่นสะเทือน การเจียรราง (Rail Grinding) ร่วมกับการติดตั้งกำแพงกั้นเสียง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมขนส่งทางราง (ขร.) กลับเพิกเฉยที่จะบังคับให้ กทม. รฟม.และ รฟท. ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่การกำหนดไว้ในทีโออาร์ในช่วงกระประมูลการก่อสร้าง เป็นต้น

ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าทาง สตง.ได้เคยเสนอแนะบางหน่วยงานให้แก้ไขในเส้นทางรถไฟที่ผ่านชุมชนมาแล้วอย่างได้ผล แต่ปัจจุบันมีเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าในเขตเมือง และชุมชนเพิ่มขึ้นหลายเส้นทางในรับผิดชอบหลายหน่วยงาน แต่มิได้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างเร่งด่วนแต่อย่างใด

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงนำความมาร้องเรียนให้ สตง.ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการเสนอแนะหน่วยงานที่รับผิดเร่งแก้ไขบรรเทาปัญหาดังกล่าว แต่หากไม่เป็นผลสมาคมฯ จะร่วมกับชาวบ้านนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลต่อไป