“รสนา” เรียกร้องนายกฯ สั่งปลัด สธ.ระงับนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ 424 ล้านเม็ด เผยผลการประเมินของ HiTAP มีประสิทธิผลต่ำมากในการใช้รักษาโควิด ขณะนายกฯ มีนโยบายใช้ฟ้าทะลายโจร กับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลืองงบ 1 หมื่นกว่าล้านบาท
วันนี้ (18 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ฟาวิพิราเวียร์ ยามาตราฐานต่ำ คุ้มค่าเม็ดเงินกว่าหมื่นล้าน ในการจัดซื้อของปลัด สธ.หรือไม่ !?
ปรากฏเอกสารข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ลงนามโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการมอบกลุ่มภารกิจสำรองเวชภัณฑ์และส่งกำลังบำรุงให้ดำเนินการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ เดือนสิงหาคม-กันยายน 124 ล้านเม็ด และเดือนตุลาคม-ธันวาคม อีกเดือนละ 100 ล้านเม็ด รวมทั้งสิ้น 424 ล้านเม็ด
ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 HiTAP ซึ่งเป็นโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยเอกสารการทบทวนวรรณกรรมที่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีการวิจัยทั้งหมดจำนวน 56 การศึกษาในมนุษย์ของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ ClinicalTrials.gov ในจำนวนนี้ มี 18 การศึกษาที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
HiTAP ได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างรวดเร็วโดยเลือกเฉพาะงานวิจัยที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจากฐานข้อมูล Medline ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยเป็นงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิผลของฟาวิพิราเวียร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2564 เท่านั้น
วัตถุประสงค์เพื่อทราบประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิดในประเทศต่างๆ และเพื่อทราบความปลอดภัยตลอดจนผลข้างเคียงของฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด
ตัวแปรที่ใช้วัดประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด พบว่า
1) ประเด็นการเสียชีวิต ผลการวิเคราะห์เชิงอภิมานด้านประสิทธิผลของฟาวิพิราเวียร์ต่อ “การเสียชีวิต” เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเปรียบเทียบ ผลที่พบ คือ ไม่มีความแตกต่าง
2) อัตราลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนใช้ และคนไม่ใช้ฟาวิพิราเวียร์
3) อัตราที่ต้องการเตียง ICU พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนใช้ และคนไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์
4) พบอัตราส่วนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นใน 7 วันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบความแตกต่างใน 14 วัน
5) พบว่า อัตราส่วนในการขจัดไวรัสในผู้ป่วยที่รับยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ 7, 10, 14 วัน ไม่มีความแตกต่าง
6) พบประสิทธิผลว่าฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดอาการทางคลินิกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ประสิทธิผลด้านอื่นยังไม่พบว่าแตกต่างจากกลุ่มเปรียบเทียบอื่นอย่างมีนัยสำคัญ
HiTAP จึงเสนอแนวทางนโยบายให้เผยแพร่ให้แพทย์และบุคลากรและประชาชนให้ทราบถึงข้อจำกัดของหลักฐานด้านประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด และแม้ฟาวิพิราเวียร์จะมีผลข้างเคียงน้อย แต่อาจส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยตับไต และหญิงตั้งครรภ์ จึงเสนอให้มีการแก้ไขเวชปฏิบัติในการสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเสนอให้อาศัยยาในบัญชียาหลักอื่นที่มีราคาถูกกว่าฟาวิพิราเวียร์แต่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า
แม้ HiTAP จะไม่ได้เอ่ยถึงยาฟ้าทะลายโจร แต่ยาฟ้าทะลายโจรก็อยู่ในบัญชียาหลัก ที่ผลิตได้เองในประเทศและมีราคาถูกกว่า มีความปลอดภัย ยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับไตเมื่อใช้ในขนาดที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ฟ้าทะลายโจรยังเป็นความมั่นคงทางยาของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง จนมีการตั้งคณะกรรมการฟ้าทะลายโจรแห่งชาติ เมื่อ 27 กรกฎาคม 2564 แต่ปรากฏว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขกลับมีข้อสั่งการให้ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงธันวาคม ปีนี้ถึง 424 ล้านเม็ด
ดิฉันเคยสอบถามราคาฟาวิพิราเวียร์ในปัจจุบันจากเลขาธิการ สปสช. ทราบว่า สปสช.มีการขออนุมัติจัดซื้อฟาวิพิราเวียร์จำนวน 27 ล้านเม็ด ในราคาเม็ดละ 33 บาท
แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการสั่งการจัดซื้อต่างหากจาก สปสช.อีกจำนวน 424 ล้านเม็ด หากจัดซื้อในราคาเดียวกับ สปสช.ที่ราคาเม็ดละ 33 บาท การจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุขจะมีมูลค่าอย่างน้อยถึง 13,992 ล้านบาท
จากการประเมินประสิทธผลยาฟาวิพิราเวียร์ของ HiTAP ว่า มีประสิทธิผลต่ำมากในการใช้รักษาโควิด ดังนั้น การใช้งบประมาณเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาโควิดในการซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ถึง 13,992 ล้านบาท เป็นการเดินผิดทางหรือไม่
เป็นการใช้จ่ายเงินกู้ที่ขาดความประหยัด ขาดประสิทธิภาพ ขาดการคำนึงถึงประชาชนที่เป็นผู้แบกรับหนี้เงินกู้ เป็นการใช้จ่ายเงินกู้แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช่หรือไม่
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสมควรปฏิบัติตามนโยบายทั้งของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นผู้ป่วยในโซนสีเขียว ที่มีปริมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด การสนับสนุนให้มีการใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มคนไข้โซนสีเขียว จะเป็นการประหยัดงบประมาณ เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ผลิตได้ในประเทศ มีสรรพคุณเป็นที่ประจักษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงสมควรสั่งซื้อยาฟ้าทะลายโจรที่เป็นของผลิตได้ในประเทศ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยด้วย โดยลดปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ลงไป จะเป็นการใช้จ่ายเงินของประชาชนอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย
จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาเหตุการณ์ และเคยประกาศนโยบายสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด ได้โปรดบัญชาให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระงับการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ในจำนวนมหาศาลเกินความจำเป็น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างสมเหตุสมผล มีความประหยัด และคำนึงถึงการพึ่งตนเองในท่ามกลางโรคระบาดที่ประเทศชาติต้องใช้จ่ายเงินกู้ที่ประชาชนต้องแบกรับเป็นจำนวนมหาศาลโดยคำนึงอย่างรอบคอบถึงความมีประสิทธิภาพ ความประหยัด ความสมเหตุสมผล และความคุ้มค่าด้วย