ก.กระทรวงสาธารณสุข แจงแบ่งวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสให้ 4 กลุ่ม เน้นบุคลากรทางการแพทย์ ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่ทำงานกับโควิด-19 รวมถึงเจ้าหน้าที่อาสาสามัคร กู้ภัย สัปเหร่อ ปัดข่าวนำฉีดให้กลุ่มวีไอพี
วันนี้ (2 ส.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงความก้าวหน้าการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อ 2-3 วันที่แล้วมีกรณีการะแสในสังคมค่อนข้างมากเรื่องการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เมื่อเช้าวันนี้ ทาง สธ.ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้มีมติเห็นชอบในการนำเสนอความก้าวหน้าการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์คงเป็นข้อกังวลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จะจัดสรรให้กับใครได้บ้าง โดยมีการชี้แจงในวันนั้นว่าใครจะได้รับวัคซีนบ้าง จึงมีประเด็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการดูแลคนไข้อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด19 มีทั้งเจ้าหน้าที่ระดับตำบล หรือเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ จะได้รับวัคซีนหรือไม่ ก็ขอยืนยันว่า วัคซีนไฟเซอร์จะครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด19 โดยตรง และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับการบริจาคจากสหรัฐอเมริกาประมาณ 1.5 ล้านโดส จะมีจัดสรรกระจายให้กับ 4 กลุ่ม คือ 1.บุคลากรบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ช่วยงาน หรือพนักงานเก็บศพ จำนวน 700,000 โดส 2.จังหวัดที่มีการระบาด มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 13 จังหวัด 645,000 โดส 3.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยและชาวไทยผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา รวม 150,000 โดส และ 4.ทำการศึกษาวิจัย จำนวน 5,000 โดส
นพ.สุระ กล่าวว่า ในกลุ่มอื่นๆ กรณีที่คิดว่าจะมีประเด็นปัญหาว่าจะตกหล่น ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือหน่วยบริการทุกหน่วย สามารถเสนอผ่านมาทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้ส่งข้อมูลมาที่กรมควบคุมโรคได้ ในกรณีที่ต้องส่งเพิ่มเติม ส่วนที่สอง พื้นที่ 13 จังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้ติดต่อทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพราะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด คงจะมีการกระจายวัคซีนไปยังจุดฉีดที่สำคัญในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเสี่ยงได้มารับวัคซีนจากการนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งกรุงเทพฯ ให้ประสานกับสำนักอนามัย สำหรับส่วนต่างวัคซีนที่เหลือหลังจากจัดสรรให้ตามกลุ่มเป้าหมาย คณะทำงานด้านบริหารจัดการวัคซีนจะมีการปรึกษากันอีกครั้งในการจัดสรรต่อไป โดยต้องดูถึงความจำเป็นเพื่อลดภาระการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนการกำหนดการจัดสรรวัคซีน ในกลุ่มที่เป็นประเด็นในสังคม ก็ได้มีมิติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 4/2564 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เรื่อง คำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีรายละเอียดดังนี้ คำแนะนำแนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า โดยกลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน หรือการเรียนการสอน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกันหรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาล/หน่วยงานต้นสังกัด
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โดยมีหลักการให้วัคซีนดังนี้ 1. บุคลากรที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็มพิจารณาให้วัคซีน Pizer กระตุ้น 1 เข็ม 2. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใด ๆ มาแล้วเพียง 1 เข็มพิจารณาให้วัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก เช่น เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว มีกำหนดฉีดเข็มที่ 2 ใน 3 สัปดาห์ ก็ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3. บุคลากรที่ไม่เคยได้วัคซีนใด ๆ มาก่อนพิจารณาให้วัคซีน Pfizer 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ตามมาตรฐานที่กำหนด 4. บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีนพิจารณาให้วัคซีน Pizer 1 เข็มโดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน
ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้ 1. วัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือ 2. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มหรือ 3. วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและได้รับเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 3 กลุ่มดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาขณะนี้ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มกระตุ้นเพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ เนื่องจากเพิ่งฉีดวัคซีนมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลวิชาการที่จะสนับสนุนว่าจะฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามบุคลากรกลุ่มนี้ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ และจะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการและดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มวีไอพี ออกมาโพสต์ทางสื่อว่าได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว โดยเฉพาะวัคซีนที่ได้จากสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขมีการตรวจสอบอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าวัคซีนไฟเซอร์ เพิ่งได้รับมาจากสหรัฐอเมริกา ลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิตอนตีสี่ ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จากนั้นมีการนำเข้าไปเก็บที่ คลังบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา(ประเทศไทย) จำกัด ในอุณหภูมิ -70 องศา ขณะนี้วัคซีนทั้งหมดยังคงเก็บอยู่ที่คลัง ยังไม่ได้มีการกระจายออกไป เนื่องจากจะมีระบบการควบคุมอุณหภูมิ ดังนั้นกระแสข่าวที่มีกลุ่มบุคคลได้รับวัคซีนไฟเซอร์จากที่ไหนอย่างไร ยืนยันว่าไม่ใช่วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจัดสรรในรอบนี้
ด้านพล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่พยาบาล หรือทุกคนที่เสี่ยงในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 ด่านหน้าทุกคน รวมไปถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ด้วยเหตุที่เชื้อไวรัสมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ตลอด จึงต้องมีชุดความรู้เกิดขึ้นใหม่ ไม่มีตำราไหนกำหนดไว้ และทำให้การต่อสู้เป็นไปยากลำบาก และผู้บริหารที่พิจารณา ทั้งด้านวิชาการ และบริบทของประเทศไทยเพื่อประโยชน์สูงสุดของบุคลากรและประชาชน จนเกิดแนวทางที่เป็นการป้องกันประชาชนด้วยวัคซีนไฟเซอร์ และเป็นความท้าทายในการตัดสินใจ ซึ่งต้องกราบเรียนว่า การตัดสินใจบางอย่างอยู่ในพื้นฐานหลักฐานที่มีทางวิชาการ บางอย่างอยู่ในความเป็นไปได้ที่คิดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นความเสี่ยงเพราะทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ เป็นเหตุให้พวกเราทุกคนต้องร่วมใจกันติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นพ.อิทธพร กล่าวในฐานะของสภาวิชาชีพทั้ง 7 สภาวิชาชีพ ขอบคุณคณะกรรมที่ฟังเสียงจากส่วนรวมทุกฝ่ายทุกข้อมูล จนทำให้เกิดการดำเนินการในครั้งนี้ และให้วัคซีนไฟเซอร์ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะจะมีระบบแท็กติดตาม ในขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด อีกทั้งยังกำหนดให้มีการติดตามบุคลากรที่มีการลงทะเบียน 3 กลุ่มสุดท้ายที่เพิ่งมีการรับวัคซีน ถ้ามีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน มั่นใจได้ว่าจะมีการคุ้มครองโดยปลัด สธ. ที่มีความห่วงใยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในอนาคตอย่างแน่นอน หากมีข้อมูลทางวิชาการหรือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยกว่า สำหรับสมาชิกแพทยสภาที่ลงทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนิก้าไว้ในเข็ม 3 จำนวน 200 คน หากต้องการปรับเปลี่ยนสามารถแจ้งในเฟสบุ๊ค แพทยสภา จะมีการดำเนินการให้ สุดท้ายต้องขอบคุณทุกคนที่ห่วงใยบุคลากรด่านหน้า ซึ่งปลัด สธ. ย้ำเสมอว่า บุคลากรด่านหน้าเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู้โควิด-19 และต้องชนะไปด้วยกัน