น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รสนาตั้งข้อสังเกต 7 ประเด็นการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ของ อภ.ผิด กม.จัดซื้อจัดจ้าง หากมีการรับของและจ่ายเงิน ทั้งอภ.และสปสช.จะมีความผิดทางอาญาและทางแพ่ง
ข่าวสื่อมวลชนวันที่ 3 ก.ย 2564 ที่บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหา เซ็นสัญญาจัดซื้อ ATK ส่อทุจริตนั้น ดิฉันมีข้อพิจารณาต่อข้อมูลที่ปรากฎในข่าวดังนี้
1.เอกสารที่เวิลด์ เมดิคอลฯนำมาแสดงเป็นเพียงหนังสือรับรองว่าเวิลด์ เมดิคอลฯเป็นผู้แทนจำหน่าย ATKของ ออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด ทำให้เวิลด์ เมดิคอลฯมีสิทธิที่จะขาย ATK ได้
แต่การขายให้ อภ.ต้องปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญเสนอราคาเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นซองเสนอราคา ออสแลนด์ฯเป็นบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญเสนอราคา ดังนั้นออสแลนด์ฯเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นซองเสนอราคา ซึ่ง ออสแลนด์ฯก็ได้ยื่นซองเสนอราคาและชนะการคัดเลือกตามภาพถ่ายการนับคะแนน
เมื่อออสแลนด์ฯ ชนะการคัดเลือก อภ.ต้องทำสัญญากับออสแลนด์ฯ การทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯถือเป็นการทำสัญญากับบริษัทที่ไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก และไม่ได้รับการคัดเลือก เป็นการทำสัญญาผิดตัวซึ่งไม่มีผลให้เกิดสัญญาระหว่าง อภ.กับเวิลด์ เมดิคอลฯ อภ.จะรับมอบ ATK และสปสช.จะจ่ายเงินไม่ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่ง ใช่หรือไม่
2.การที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากออสแลนด์ฯให้ยื่นซองเสนอราคาและนำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่6 ส.ค.64มาแสดงนั้น หนังสือมอบอำนาจที่นำมาแสดงนั้นเป็นหนังสือที่เวิลด์ เมดิคอลฯ มอบอำนาจให้ผู้แทนบริษัท มีอำนาจเสนอราคา ไม่ใช่หนังสือแสดงว่าออสแลนด์มอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอล ยื่นซองเสนอราคาแทนตน
3.แต่ถ้าออสแลนด์ฯ ได้มอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอลฯ ยื่นซองเสนอราคาแทนตนจริงตามคำแถลงข่าวของเวิลด์ เมดิคอลฯ ก็ยิ่งเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าผู้ยื่นซองเสนอราคาที่แท้จริงคือออสแลนด์ฯโดยมอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทน เมื่อเป็นเช่นนี้อภ.ต้องทำสัญญากับออสแลนด์ฯ ซึ่งเป็นตัวการตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เป็นคู่สัญญาต้องเป็นออสแลนด์ฯ มิใช่เวิลด์ เมดิคอลฯ
การให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นคู่สัญญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำสัญญาผิดตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีผลให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นคู่สัญญา อภ.จะรับมอบ ATK และสปสช.จะจ่ายเงินไม่ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดอาญา และต้องรับผิดทางแพ่งใช่หรือไม่
4.ที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่า เป็นJoint Ventureกับ ออสแลนด์ฯนั้น ถ้าเป็นความจริงเหตุใดจึงไม่นำ Joint Venture Agreement และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีที่ออกให้โดยกรมสรรพากรในฐานะกิจการร่วมค้า (Joint Venture)มาแสดง และเหตุใด อภ.จึงไม่ทำหนังสือเชิญเข้ารับการคัดเลือกในการจัดซื้อ ATK ส่งถึงJoint Venture
ออสแลนด์ฯ และเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า เหตุใดมีหนังสือเชิญเข้ารับการคัดเลือกส่งถึงออสแลนด์ฯ ซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษี (Tax Entity) แยกต่างหากจากกันกับกิจการร่วมค้า ดังนั้นที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่าเป็นJoint Venture กับ ออสแลนด์ฯจึงไม่น่าจะเป็นความจริง และขัดกับ Certification of Autourized Distributor ที่ระบุว่าเวิลด์ เมดิคอลฯเป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย (Distributor) ของออสแลนด์ฯเท่านั้น มิได้มีฐานะเป็นJoint Venture กับออสแลนด์ฯแต่อย่างใด
5.สรุปแล้วความจริงน่าจะเป็นกรณีออสแลนด์ฯได้รับหนังสือเชิญให้เข้ารับคัดเลือกเพื่อเสนอขาย ATK ให้แก่องค์การเภสัชกรรม และออสแลนด์ฯได้ยื่นซองเสนอราคาตามหนังสือเชิญและเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แต่องค์การเภสัชกรรมทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งเป็นการทำสัญญาผิดตัว ไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่อาจรับมอบสินค้าและจ่ายเงินค่าสินค้าได้
6.องค์การเภสัชกรรมและเวิลด์ เมดิคอลฯยิ่งแก้ตัว ยิ่งมีหลักฐานมัดตัวเอง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความจริงบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญจากองค์การเภสัชกรรมเข้าเสนอราคาขายATK คือออสแลนด์ฯ และบริษัทที่ยื่นซองเสนอราคาคือออสแลนด์ฯและบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกโดยมีคะแนนสูงสุดก็คือออสแลนด์ฯเช่นเดียวกัน มิใช่เวิลด์เมดิคอลฯ
แต่มีการทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งมิได้เป็นบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญ และมิได้เป็นบริษัทที่ยื่นซองเสนอราคา ทั้งมิได้เป็นบริษัทที่ปรากฎชื่อในการการเปิดซองและตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการคัดเลือกการซื้อ ATK ขององค์การเภสัชกรรม
เวิลด์ เมดิคอลฯจึงไม่อาจเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมได้ การเป็นคู่สัญญาระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับเวิลด์ เมดิคอลฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้องค์การเภสัชกรรมต้องรับมอบ ATK จากเวิลด์เมดิคอลฯและไม่อาจจ่ายเงินให้เวิลด์ เมดิคอลฯหรือออสแลนด์ฯ ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่งใช่หรือไม่
7.กรณีที่เกิดขึ้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าเวิลด์ เมดิคอลฯหรือออสแลนด์ฯจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากองค์การเภสัชกรรมและรัฐต้องเสียค่าโง่เหมือนกรณีอื่นๆ เพราะตามข้อเท็จจริงมีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สมรู้ร่วมคิดด้วย เป็นกรณีทำนองเดียวกับคดีค่าโง่คลองด่านที่ในที่สุด รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าโง่ประมาณ 10,000 ล้านบาทและผู้บริหารของคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษต้องติดคุกเช่นเดียวกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและพวก
จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานตรวจสอบภายในกรมบัญชีกลาง และสตง.ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อเงินแผ่นดิน และทำความชัดเจนต่อสาธารณชนด้วย