xs
xsm
sm
md
lg

ซักฟอกไม่ระคาย “บิ๊กตู่” ฝ่ายค้านแตกคอ-แย่งซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


  ศักดิ์สยาม ชิดชอบ - ประยุทธ์ จันทร์โอชา - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุด ผลการประชุมหารือกันระหว่างวิปรัฐบาล ฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือการกำหนดกรอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ก็ได้ข้อสรุปในเรื่องวันเวลาสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีออกมาแล้ว นั่นคือ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน และลงมติกันในวันที่ 4 กันยายน

โดย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดกรอบระยะเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ โดยระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน จะเริ่มประชุมตั้งแต่ เวลา 09.00-00.30 น. ส่วนวันที่ 3 กันยายน จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00-21.00 น. และ วันที่ 4 กันยายน จะเริ่มลงมติในเวลา 10.00 น. ซึ่งมีการกำหนดเวลาในการอภิปรายทั้งหมด 58 ชั่วโมง 30 นาที แบ่งเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 40 ชั่วโมง ส่วนของฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี 18 ชั่วโมง 30 นาที

สำหรับรัฐมนตรีที่ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล รวม 6 คน นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พรรคพลังประชารัฐ และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากพรรคพลังประชารัฐ

หากพิจารณาจากรายชื่อและตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบแล้ว แน่นอนว่า ต้องพุ่งเป้าหลักไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นศูนย์อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วยแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เขาก็ต้องโดนเข้าไปเต็มๆ อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนภายในรัฐบาลเป็นผลต่อเนื่องตามมาอีกด้วย อย่างน้อยหากการอภิปรายแบบ “ได้น้ำได้เนื้อ” ก็ยิ่งทำลายภาพลักษณ์ให้ทรุดลงไปอีก

ขณะเดียวกัน ยังมีรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสองคนที่ถือว่าตกเป็น “เป้ารอง” ลงมา แต่ก็ถือว่ามีบทบาทไม่น้อย อย่างเช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องโดนซักฟอกในสถานการณ์โรคระบาด และอีกคนก็คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ซึ่งสองคนหลังนี้โดนทั้งหัวหน้าพรรค และ เลขาฯพรรค

ซึ่งกรณีของ นายศักดิ์สยาม นั้น ฝ่ายค้านอาจมีเจตนาเพื่อหวังสร้างความแตกแยกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือระหว่างบุคคลและพรรค เพราะหากมีการรื้อฟื้นเรื่อง “ที่ดินเขากระโดง” มาซ้ำรอยแผลเก่า ก็ต้องจับตาว่า ส.ส.บางคนในพรรคพลังประชารัฐ เช่น “กลุ่มดาวฤกษ์” ที่นำโดย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี จะลงมติไปในทิศทางไหน หลังจากการอภิปรายคราวที่แล้วพวกเธอก็ไม่ยอมลงมติให้ โดยอ้างว่าหลักฐาน และการชี้แจงไม่เคลียร์ จนเกิดการหมางใจกันมาแล้ว

ส่วนรัฐมนตรีรายอื่นๆ หากพิจารณากันในภาพรวมๆ แล้วถือเป็น “น้ำจิ้ม” เป็นเพียงแค่เปิดโอกาสให้ ส.ส.ฝ่ายค้านได้อภิปรายหาเสียงออกทีวีโชว์ชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น เพราะหากกล่าวกันแบบปรามาสล่วงหน้า ยังเชื่อว่าไม่มีข้อมูล หรือมีน้ำหนักพอสำหรับทำให้ถึงกับ “โค่น” ลงไปได้เลยสักรายเดียว

อย่างที่ระบุตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป้าหมายหลักของพรรคฝ่ายค้าน ก็คือ “บิ๊กตู่” หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจตนาเพื่อถล่มให้จมดิน แต่ข้อหาที่กล่าวหาเขานั้น ล้วนออกมาในเรื่องของ “ความล้มเหลว” ในการบริหารจัดการ ซึ่งหากจะว่าไปแล้วมันก็ยังไม่ใช่ถึงขั้นน็อกได้ในคราวเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องการ “ทุจริต คอร์รัปชัน” ซึ่งสำหรับคนนี้ ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีให้ถล่ม จะมีก็เป็นแค่ข้อกล่าวหาทำนองว่าเป็นยุคที่มีการทุจริตมาก มโหฬาร แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานจะจะออกมาให้เห็นเลย ส่วนจะออกมาในโทนประเภท “อยู่นานเกินไป” เสียมากกว่า

แต่ที่น่าจับตามากไปกว่านั้นก็คือ “การแตกคอ” ของฝ่ายค้านก่อนเริ่มศึกใหญ่เสียด้วยซ้ำ นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล จนลุกลามจากระดับแกนนำพรรคมา จนถึงพวกระดับ “ลูกน้อง” ที่เดือดร้อนแทน มีการตอบโต้กันอย่างดุเดือด

และแม้ว่าสาเหตุอาจจะทำให้เห็นว่าขัดแย้งกันในเรื่องตัวรัฐมนตรีที่จะอภิปรายซักฟอก เช่น อ้างว่า พรรคก้าวไกล ไม่พอใจที่พรรคเพื่อไทย ไม่เพิ่มชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เลขาฯ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหากมองกันในแบบตรงไปตรงมา ทั้งสองคนดังกล่าวก็ยังไม่มีหลักฐาน หรือข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาด หรือทุจริตในช่วงเวลานี้ และที่ผ่านมา ก็เคยถูกอภิปรายมาแล้ว ก็ไม่น่าจะมีเรื่องใหม่ นอกจากเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน กับเรื่องแป้ง” เท่านั้น แต่หากต้องการถล่มย้ำไปในเรื่องเจตนาทำลาย “ภาพลักษณ์” ที่ติดตัวก็ว่ากันไป เพราะทั้งคู่หลับตา ก็เห็นภาพทันที

อย่างไรก็ดี หากมองกันในสถานการณ์ความเป็นจริงแล้ว มันน่าจะเป็นเรื่องของความไม่พอใจสะสม และมาถึงจุดระเบิดมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็น “คู่แข่ง” ที่แท้จริงระหว่างสองพรรค เพราะมีฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ที่มองว่าพรรคก้าวไกล เสี่ยงจะสูญพันธุ์ และมองว่าเพื่อไทย ฮั้วกับพลังประชารัฐ อะไรประมาณนี้

ดังนั้น มันก็ต้องถึงจุด “ระเบิด” ไม่จำเป็นต้องไว้หน้ากันอีกต่อไป แต่อีกมุมหนึ่งเมื่อพรรคฝ่ายค้านหลัก “แตกคอ” กันเองแบบนี้ มันก็ย่อมส่งผลต่อน้ำหนักการซักฟอกฝ่ายรัฐบาล และจะว่าไปแล้วหากคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ก็น่าจะออกมาในลักษณะ “แข่งกันด่า” แบบ “โชว์ตลาดล่าง” เหมือนเช่นที่ผ่านมา และยิ่งการยื่นญัตติที่กระจายจำนวนรัฐมนตรีมากขนาดนี้ ก็ยิ่งไร้จุดโฟกัส เพราะถ้าต้องการเล่นกันถึงตายจริงๆ ก็น่าจะถล่มโครมไปที่ “บิ๊กตู่” คนเดียว แบบนี้อาจได้ลุ้นพรรคร่วม “โหวตสวน” ได้บ้าง แต่เมื่อได้เห็นอาการแบบนี้ มันก็คงเสียเวลาเปล่า !!



กำลังโหลดความคิดเห็น