แล้วแต่จะมอง! หน.ปชป.มั่นใจร่างแก้ รธน.ยึดตามข้อบังคับทุกประการ เมินก้าวไกลมองร่างไม่สมบูรณ์ ยันแก้เพื่อความเป็น ปชต.ประโยชน์ส่วนรวม พลิ้วตอบปมถอนตัวร่วม รบ.หากร่างไม่ผ่าน อ้าง ปชป.มีแค่ 50 เสียง
วันนี้ (24 ส.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ที่มีการทบทวนและปรับออก 4 มาตรา ว่า ต้องเป็นไปตาม กมธ. เพราะเมื่อรับหลักการ และมอบให้ กมธ. ที่มาจากทุกภาคส่วนครบถ้วนแล้วไปพิจารณา เมื่อ กมธ. เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร โดยที่ไม่ได้ขัดกับหลักการที่รับไป พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ให้ผ่านในวาระที่ 3 เพราะต้องถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นจุดยืนสำคัญจุดยืนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประกาศมาตั้งแต่ต้น ว่า เราอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และร่างที่ผ่านมาแม้จะเป็นร่างเดียวของพรรคที่ผ่านก็ตาม แต่เนื้อหาก็นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น นั่นคือ อย่างน้อยก็ให้สิทธิ เสรีภาพประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผู้แทนราษฎรไปเลือกรัฐบาล หรือไปตั้งรัฐบาลมาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ประชาชนอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมใช้ระบบบัตรใบเดียวเท่ากับจำกัดเสรีภาพในการที่จะแยกเลือกคนกับพรรคออกจากกัน เพราะต้องไปเลือกรวมกัน ก็ให้แยกเป็นบัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกคน ใบหนึ่งเลือกพรรค ก็เท่ากับเปิดเสรีภาพให้ประชาชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าถามในแง่ความเป็นประชาธิปไตย ก็ถือว่าเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นประชาธิปัตย์ก็สนับสนุนที่จะให้ผ่านวาระที่สามด้วย
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สมบูรณ์ และขัดกับหลักการ อาจนำไปสู่การไม่สามารถทำให้เกิดแก้ไขได้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า สุดแล้วแต่จะมอง แต่สำหรับตนมั่นใจว่าเป็นไปตามหลักการถูกต้อง ทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับทุกประการ สามารถดำเนินการได้ และความเห็นของฝ่ายกฎหมายรัฐสภา และกฤษฎีกาเท่าที่เคยตรวจสอบก็สอดคล้องกันว่าสามารถดำเนินการได้
“ผมคิดว่า การแก้รัฐธรรมนูญ หลักใหญ่คืออยากให้ทุกฝ่ายได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนพรรค หรือมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ถ้าเราถือหลักนี้ก็จะหาคำตอบได้ว่า สุดท้ายควรจะเป็นอย่างไร ประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าเราแก้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าร่างนี้ส่วนรวมได้ประโยชน์ก็ตัดสินใจเสนอร่างตั้งแต่ต้น แล้วก็ผ่านความเห็นชอบ มาถึงวาระสอง วาระสาม ก็พร้อมสนับสนุน” หัวหน้าพรรค กล่าว
ส่วนที่มีการมองว่า เป็นการแก้เพื่อ 3 พรรคการเมืองใหญ่มากกว่านั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เราต้องดูภาพรวม ถ้าไปมองเฉพาะพรรค ว่า พรรค 1-2-3-4-5 ถ้าอย่างนั้นก็ยากที่จะหาจุดในการที่จะพิจารณาตัดสินใจได้ แต่ถ้าถือประโยชน์ส่วนรวม จุดของความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ก็คิดว่าตัดสินใจได้ไม่ยาก เพราะมีคำตอบในตัวของมันอยู่แล้ว และประชาธิปัตย์ก็ถือหลักนี้
เมื่อถามว่า หากการแก้รัฐธรรมนูญไม่สามารถไปต่อได้ จะมีการทบทวนการร่วมรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่กรณีของจุดยืนที่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เรื่องนี้ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยน และต้องการที่จะเห็นรัฐธรรมนูญแก้ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น อย่างน้อยถ้าร่างนี้ผ่าน ก็ถือเป็นการนับหนึ่งที่จะพาประเทศเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการนำร่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่จะนำไปสู่อนาคตต่อไปอีก ซึ่งต้องแก้อีกหลายประเด็น เพราะยังมีประเด็นที่ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่ว่า สุดท้ายหลักการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นมันจะต้องเป็นอย่างไร
ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยออกมาย้ำจุดยืนว่า จะไม่ร่วมอภิปรายในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไรนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ก็สุดก็แล้วแต่พรรคภูมิใจไทย ตนคงไม่ไปกะเกณฑ์พรรคการเมืองอื่น จุดยืนของเขาเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่ประชาธิปัตย์เรายืนชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น อันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยน
เมื่อถามว่า มี ส.ว. ส่วนหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และอาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา นายจุรินทร์ กล่าวว่า การที่รัฐธรรมนูญจะผ่านได้นั้น เสียงส่วนใหญ่จะต้องเห็นพ้องกัน คือ 1. พรรคร่วมรัฐบาล 2. ฝ่ายค้าน ที่จะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 3. วุฒิสมาชิก ที่จะต้องมีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ถ้าเกิดรัฐธรรมนูญไม่ผ่านด้วยเหตุผลกลไกใดกลไกหนึ่งไม่สนับสนุน หรือสนับสนุนแต่เสียงไม่พอ เรื่องนี้แต่ละกลไกก็ต้องอธิบาย ลำพังประชาธิปัตย์ก็คงจะไม่สามารถที่จะไปดำเนินการให้มันได้ครบถ้วนทั้งหมด เพราะเราก็มีข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดประชาธิปัตย์ ก็คือ เรามีแค่ 50 เสียง เพราะฉะนั้นเราก็ใช้ 50 เสียงเท่าที่มีอยู่จำกัดนี้ ทำหน้าที่ของเราสุดความสามารถแล้ว และสามารถที่จะบอกกับประชาชนได้ว่าเราทำอะไรบ้าง แล้วเราทำสุดความสามารถแล้วอย่างไร และยืนหยัดจนนาทีสุดท้ายอย่างไร