มติรัฐสภาเสียงข้างมาก ค้านญัตติก้าวไกล 374 เสียงต่อ 60 เสียง เรื่องตีความ กมธ.แก้ รธน.ขัดข้อบังคับหรือไม่ หลังถกนาน 4 ชั่วโมง พร้อมเลื่อนถกร่างแก้ รธน. ไปพรุ่งนี้
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่ประชุมรัฐสภา ได้พิจารณาญัตติขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดย นายธีรัจชัย พันธุมาส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ว่า การทำงานของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ รัฐสภานั้นขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อ 114 และ ข้อ 124 หรือไม่ ว่า ในช่วงท้ายของการอภิปรายมีความเข้มข้น เพราะเกิดประเด็นใหม่ ว่า ญัตติที่เสนอนั้น จะลงมติหรือพิจารณาได้หรือไม่ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถูกปรับแก้ไขแล้ว และมีผู้เสนอให้ถอนญัตติ เพราะห่วงว่าจะถูกนำไปใช้เพื่อตีความต่อการแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต และมองว่าญัตตินั้นไม่สมบูรณ์
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายหารือว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ที่เสนอนั้น ได้ปรับแก้ไขตามมติของ กมธ. แล้ว ทั้งนี้ การวินิจฉัยของรัฐสภาต้องพิจารณาให้ดี เพราะตนกังวลว่าอาจจะมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เขียนจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 10 มาตรา นำไปตีความอย่างกว้างได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า รัฐสภาไม่ควรให้รัฐสภาตีความดังกล่าว เพื่อไม่ให้นำการตีความไปใช้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่น
ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวว่า จะมีการลงมติในญัตติ เพราะรัฐสภายังไม่ได้รับเนื้อหาที่ กมธ.ปรับแก้ไข ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายรัฐสภา มองว่า การเสนอญัตตินั้น สามารถรับไว้พิจารณาได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามา อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีประเด็นเรื่องของความรู้สึกว่าพรรคใหญ่เอาเปรียบ อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวต้องลงมติ ว่า การทำงานของ กมธ. นั้นชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ ทั้งนี้ ในวันหน้าหากพบการเสนอแก้กฎหมายใดก็ตามที่ขัดต่อข้อบังคับรัฐสภา สามารถเสนอตีความได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อถกเถียงเรื่องการลงมติในญัตตินั้น ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปเพื่อลงมติได้ ทั้งนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธาน กมธ. แก้รัฐธรมนูญ เสนอว่า ขออนุญาตประธานรัฐสภา แจกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ. ทบทวน และให้สมาชิกรัฐสภาศึกษาก่อนกลับมาลงมติในญัตติวันที่ 25 สิงหาคม โดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว
จากนั้น นายธีรัจชัย อภิปรายปิดญัตติ ว่า ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญลุกลี้ลุกลน และผิดข้อบังคับ ดังนั้น ตนขอเสนอให้ กมธ. นัดประชุมใหม่ เพื่อทำให้ถูกต้อง จะถอนหรือจะทำอะไร ทั้งนี้ การนัดประชุมเมื่อเวลา 09.20 น. ของวันที่ 24 ส.ค. ด้วยการส่งข้อความเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ นายชวน สรุปว่า ตนขอปรับการถามญัตติ เพราะอาจถูกมองว่าไปกล่าวหา กมธ.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบได้ ดังนั้น จะปรับคำถามว่าจะเห็นด้วยกับญัตติหรือไม่ เพื่อจบด้วยดี จากนั้นได้เรียกให้สมาชิกรัฐสภา ลงมติ ผลปรากฏว่า เสียงข้างมาก 374 เสียง ไม่เห็นด้วย ต่อ 60 เสียง งดออกเสียง 193 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง คือไม่มีผู้ใดเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณานาน 4 ชั่วโมง.
ต่อมาที่ประชุมรัฐสภา ได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ
โดย นายไพบูลย์ ได้เสนอเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทบทวนแก้ไขเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ต่อที่ประชุม ที่ กมธ.ได้ลงมติให้แก้ไข และขอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติอนุญาตในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ฐานะ กมธ. ท้วงติงว่า การปรับแก้ไขของ กมธ. ตนไม่รับรู้ และไม่ได้เข้าร่วมประชุม เพราะได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค. ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัว และติดการประชุมรัฐสภา ดังนั้น การนัดประชุมดังกล่าวของ กมธ. นั้น คือ การนัดประชุมไม่ชอบ
จากนั้น นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการ กมธ. ชี้แจงว่า ในสถานการณ์โควิด-19 กมธ.จะนัดหมายผ่านทางแอปพลิเคชัน และได้โทรศัพท์แจ้ง ดังนั้น จะระบุว่าไม่ทราบ คงไม่ได้
ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า ยังมีผู้ติดใจ ดังนั้น ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติในวันที่ 25 ส.ค.และขอเลื่อนการประชุม จากนั้นได้สั่งปิดการประชุม ไปเมื่อเวลา 18.24 น.