xs
xsm
sm
md
lg

Call out=แสดงจุดยืน หรือด่าหยาบคาย !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา


อาจกลายเป็นกระแสขึ้นมาใหม่อีกแบบ เมื่อมีการร้องเรียน แจ้งความดำเนินคดี โดยจำเพาะเจาะจงไปที่บรรดา “ดารา” จำนวนหนึ่งที่ตามศัพท์แสงเรียกว่า “Call out” หรือการ “แสดงจุดยืน” ทางการเมือง ที่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่อยู่ในเวลานี้
แน่นอนว่า เชื่อว่า ต้องพูดตรงกันว่า “การแสดงจุดยืน” การให้ความเห็น หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมสามารถทำได้อย่างเต็มที่ และยิ่งในทางการเมืองยิ่งสามารถทำได้อย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจและเน้นย้ำกันอย่างหนักแน่นว่า “การแสดงจุดยืน” หรือการให้ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่าบางครั้งอาจแฝงมาด้วยความหมาย “ไม่สุจริต” ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ย่อมคนละความหมายกับ “การด่าหยาบคาย” อย่างแน่นอน รวมไปถึง การ “ด้อยค่า” รวมไปถึงการ “ปล่อยเฟกนิวส์” บิดเบือนปลุกระดม ซึ่งอย่างหลังถือว่า “เป็นความผิดทางกฎหมาย” และหากพิจารณากันเต็มพิกัดถือว่า “มีโทษหนัก” ถึงขั้นจำคุก มีผลกระทบตามมาหลายอย่าง

อย่างไรก็ดี ด้วยบรรยากาศโรคระบาดโควิด-19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตทำสถิติใหม่ทุกวันแบบนี้ และบรรยากาศทางการเมืองที่มีการ “ปลุกระดม” กันอย่างเข้มข้น และอยู่ในสังคมแตกแยกมานานนับสิบปี มันก็ยิ่งทำให้ “เกิดอารมณ์” จากฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายตรงข้ามและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การ “ใช้วาจาหยาบคาย” รวมไปถึงสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาในทางที่ “หยาบโลน” ที่ระยะหลังมีการแสดงออกมาจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่บางคนบอกว่า นี่คือ “กระแสใหม่” ที่ควบคู่มากับ “ยุคโซเชียลฯ” ที่ราวกับว่าใครก็สามารถทำอะไรก็ได้ สื่อสารแบบไหนก็ได้ ไม่มีการควบคุมห้ามปรามได้ เพราะสิ่งที่ใช้ควบคุมที่มักจะเห็นในช่วงหลัง ก็คือ วิธีแบบที่เรียกว่า “ทัวร์ลง” ซึ่งมักจะมาจากฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน หรือ “พวกเดียวกัน” โดยไม่มีการพูดถึงเรื่องเหตุผลความถูกผิด และความเหมาะสมมากนัก

เมื่อย้อนกลับมาที่เรื่อง “Call out” หรือในความหมายการแสดงจุดยืน ถือว่าเป็น “หลักการทั่วไป” ที่ต้องได้รับการเคารพ เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้ และมีท่าทีแบบไหนก็ได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องได้รับการเคารพความเห็นที่แตกต่างกันได้โดยไม่ขัดแย้ง หากอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมือง ที่ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ยิ่งต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติติง รวมไปถึงการเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความเห็นที่คิดว่าเป็นเรื่องเหมาะสม ที่ถูกที่ควร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติทำได้อยู่แล้ว

เพราะตราบใดก็ตามที่ “วิจารณ์ไม่ได้” ตรวจสอบไม่ได้ ตำหนิไม่ได้ และนำไปสู่การคุกคาม นั่นก็ถือว่าเป็น “เผด็จการ” แน่นอน!!


อย่างไรก็ดี มันก็ย่อมเป็นคนละเรื่องกับ “การด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย” แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นักการเมือง หรือใครก็ตาม ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะหรือไม่ก็ตาม หรือแม้แต่การ “ปล่อยเฟกนิวส์” ปลุกระดม ทำให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วน ซึ่งระยะหลังมักจะเกิดขึ้นจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในลักษณะที่ว่า “ต้องหยาบคาย” ไว้ก่อน ถึงจะ “เด่นดัง” อย่างนั้นหรือเปล่า

หรือหากไม่หยาบคาย ก็ไม่สามารถเรียกร้องความสนใจ เหมือนกับที่มีการตั้งข้อสังเกตกับบรรดาหลายคนที่ออกมา Call out ในช่วงนี้ ที่ใช้กิริยา คำพูดที่หยาบคาย รุนแรง ว่ามักจะเป็นพวก “ดารานักร้องเกรดบี” เกรดซี ที่แทบไม่ค่อยมีคนรู้จัก หรือลืมเลือนกันไปแล้ว แต่ออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจให้กลับมาอีกครั้ง ประมาณนี้ แม้ว่าอาจจะเป็นการกล่าวหาในแบบที่ “เหยียดหยาม” ไม่ได้ต่างกัน เพราะมีไม่น้อยที่พวกเขาได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากสถานการณ์ในเวลานี้

แต่การแสดงจุดยืนในเรื่องอะไรก็ตาม ต้องไม่ใช่ “ด่าทอหยาบคาย” เพราะนั่นมันคนละเรื่อง และที่สำคัญมันผิดกฎหมาย และมีโทษถึงจำคุก

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่รักษากฎหมายก็ต้องทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพราะการวางเฉย หรือดำเนินการล่าช้า มันก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างบานปลาย ทำให้เกิดการทำผิดจนเคยชิน คิดว่าสิ่งที่ทำเช่น การโพสต์ด่าคนอื่นด้วยคำหยาบคาย ไม่ใช่เป็นการลักษณะของการวิจารณ์ ติติง สิ่งเหล่านี้กลายเป็น “แฟชั่น” ทำตามแบบสร้างกระแสในทางที่ผิด เพราะนั่นคือความไม่รับผิดชอบ ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายมากขึ้นไม่รู้จบ

อย่างไรก็ดี การเอาผิดกับเรื่องแบบนี้ โดยเฉพาะกับพวกดารา หรือ นักร้อง หรือใครก็ตาม ที่มีการใช้ถ้อยคำด่าทอหยาบคาย ปล่อยเฟกนิวส์ บิดเบือนมีเจตนาใส่ร้ายทำให้คนอื่นเสียหาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เด็ดขาด ทำตามกฎหมาย แม้ว่าอาจมองว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” เหมือนกับเป็นการใช้อำนาจข่มเหงรังแกก็ตาม ก็ต้องมีการอธิบายชี้แจงให้ชัดเจน

ต้องย้ำว่า การแสดงจุดยืน วิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่การด่าทอหยาบคาย และปลุกระดม คุกคามอีกฝ่าย อย่างนี้ถือว่าผิดกฎหมาย โทษหนักทั้งอาญา และแพ่ง !!



กำลังโหลดความคิดเห็น