xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ยัดไส้ข้อห้าม กดหัว ปิดปากประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 ตอน ยัดไส้ข้อห้าม กดหัว ปิดปากประชาชน



มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว พื้นที่ 10 จังหวัดเพื่อสู้กับโควิด ของศบค. มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการลุ้นกันว่ารอบนี้จะเจ็บแล้วจบ หรือเจ็บแล้วไม่จบ

ขณะเดียวกัน ประเด็นหนึ่งที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือจากข้อกำหนดมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว เป็นข้อกำหนด ข้อ11 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

ความในข้อ 11 ถูกตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ลงนาม ข้อกำหนดดังกล่าวว่า ต้องการจำกัดการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการรับมือและแก้ปัญหาเรื่องโควิดหรือไม่

เนื่องด้วยข้อความในข้อ 11 ดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะไปเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาผิดกับบุคคลบางคนที่แสดงความเห็น ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ในบางเรื่องเกี่ยวกับโควิดได้

เช่นการตั้งคำถามเรื่องข้อสัญญาการซื้อขายวัคซีนระหว่างหน่วยงานรัฐกับบริษัทเอกชนต่างชาติ -การวิจารณ์ความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลและศบค. ในการจัดการปัญหาโควิดและการบริหารงานเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนจะมีขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามได้แค่ไหน

และทำได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวการถูกเอาผิดจากรัฐบาลได้หรือไม่ หากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และต้องการการเปิดเผยข้อมูลแบบรอบด้านจากรัฐบาล

เนื่องจากในข้อกำหนดดังกล่าว ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่เวลานี้ ระบุไว้ว่า "มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน"

โดยมีข้อความกำหนดไว้ว่า การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ. ที่โทษความผิดก็คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อกำหนดวรรคที่เป็นปัญหา คือส่วนที่ระบุว่า หากเป็นการทำให้ "เกิดความหวาดกลัว"ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกเอาผิดได้ ข้อความนี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนในตอนนี้

การออกกฎหมายนี้ อาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตีความเพื่อหาเหตุ หาช่องทาง เอาผิดกับบุคคลบางคน สื่อมวลชน นักวิชาการ หรือแม้แต่กลุ่มหมอ บางคนที่อาจออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องการรับมือของรัฐบาลกับโควิด

จนตอนนี้ เริ่มมีกระแสสังคม ตั้งคำถามว่า ข้อกำหนดดังกล่าว อาจทำให้ถูกนำมาใช้ จัดการปิดปาก ประชาชน สื่อมวลชน -นักวิชาการ -กลุ่มแพทย์ -โซเชียลมีเดีย ได้ หรือที่ภาษากฎหมายเรียกกันว่า แอนตี้ สแลป ลอว์( Anti-SLAPP Law )หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

ทั้งที่เรื่อง โควิด เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชน และเรื่องต่างๆ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนย่อมต้องการรู้ข้อมูล และวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็น ตั้งคำถามต่อการทำงานของนายกรัฐมนตรี ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขได้

ไม่ว่า เรื่องการแก้ปัญหาของรัฐบาล -การจัดการวัคซีน เช่นข้อมูลเรื่องสัญญาซื้อขายต่างๆ และเหตุใดจึงมีความล่าช้า -การออกพรก.เงินกู้หลายรอบ ที่ประชาชนย่อมต้องการรู้ว่า เงินกู้ดังกล่าวถูกนำไปใช้อะไรบ้าง และใช้แล้วได้ประสิทธิผลหรือไม่ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ หากประชาชนต้องการแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาล

เว้นเสียแต่ หากมีบุคคลใด มีเจตนา เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้สังคมตื่นตระหนก ก็มีกฎหมายปกติจัดการได้อยู่แล้ว เช่นพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งคำถามตามมากับประเด็นดังกล่าว อย่างเช่น ฝ่าย iLaw ที่ตั้งข้อสังเกตุว่า ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับล่าสุด ที่ประกาศใช้เมื่อ 10 ก.ค. ที่เป็นการแก้ไขจากข้อกำหนดที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้ ในส่วนของข้อห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

ทางไอลอว์ ระบุว่า มีการขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก ห้ามการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ผิด โดยเปรียบเทียบ ข้อกำหนดเดิมก่อนหน้านี้ กับข้อกำหนดฉบับล่าสุดที่มีการแก้ไข

ว่า ข้อกำหนดเดิมหรือข้อกำหนดฉบับที่ 1 ระบุว่า "การเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจะเป็นความผิดต่อเมื่อเป็นข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ "ไม่เป็นความจริง" เท่านั้น

แต่ตามข้อกำหนดฉบับล่าสุด ให้เอาผิด "ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว" โดยตัดองค์ประกอบที่เคยเขียนว่า "ไม่เป็นความจริง" ออก

ไอลอว์ระบุว่า ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้เขียนข้อกำหนดว่า อาจต้องการเอาผิดกับข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง ถือเป็นการตั้งข้อสังเกตุที่น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว ข้อกำหนดดังกล่าว จะเข้าข่ายเหมือนกับออกมาเพื่อปิดปาก ประชาชน จนไม่กล้าแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งคำถามใดๆในเรื่องสถานการณ์โควิดหรือไม่

แม้ล่าสุดวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะยืนกรานว่า "ข้อกำหนดดังกล่าว ถ้าเสนอข่าวข้อเท็จจริงไม่ถือว่ามีความผิด "และยกเหตุผลมาการันตีว่า เนื่องจากข้อกำหนดข้างต้น คัดลอกบทบัญญัติจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น ถ้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็เท่ากับ พรก.ฉุกเฉิน ที่เป็นต้นทางของข้อกำหนด ก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ตอนเริ่มประกาศใช้แล้ว

ทั้งหลายทั้งปวง ฝ่ายไหนจะถูก หรือจะผิด ต้องรอดูข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ว่าจะมีประชาชน หรือบุคคลใด ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ เอาผิดตามข้อกำหนดดังกล่าวหรือไม่

และคนที่ถูกเอาผิด มีพฤติการณ์อย่างไร มีการเผยแพร่เฟกนิวส์ หรือว่าเสนอข่าว แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจแต่กลับถูกเอาผิด ยัดข้อข้อหาแบบเหวี่ยงแห ว่าสิ่งที่ทำ เข้าข่ายตามข้อกำหนดดังกล่าว คือไป"สร้างความหวาดกลัว"

ถ้า ประชาชนถูกกระทำเช่นนี้ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องการปิดปากประชาชน หวังเอาใจรัฐบาล ต้องบอกเลยว่า ข้อกำหนดที่กดหัวประชาชนแรงเท่าไหร่ ก็จะมีปฏิกิริยาต่อต้านกลับไปอย่างแรงเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น