ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ทำไมแอสตร้าฯมาน้อย คอยนาน งานนี้ต้องถาม ลุงตู่-เลขาฯ สมช.-นพ.ปิยะสกล 3 คนนี้โบ้ยใครไม่ได้
เมื่อวานฟังว่า “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. ได้กล่าวถึงกระแสข่าวการเลื่อนฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม. ซึ่งสวนทางนโยบายปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงสูง “สีแดงเข้ม” ว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนอยู่ระหว่างดำเนินการไม่ได้เลื่อนฉีด
เมื่อถามถึงกรณีมีข้อสังเกตว่า การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ต้องส่งวัคซีนให้ไทยเดือนละ 10 ล้านโดส แต่มีข่าวว่าสามารถผลิตได้เพียง 5 ล้านโดส ต่อเดือน พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ชี้แจงกรณีดังกล่าว
พลันที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันหนักว่า ไหนว่า เลขาฯ สมช.เป็น “แม่ทัพ” ปราบโควิด สายตรง “ลุง Single command” ถูกถามทำไมวัคซีนแอสตร้าฯ มาน้อยกลับโยน สธ. แจงซะงั้น
เพราะนี่ ขนาด “พล.อ.ณัฐพล” ที่ตามคำสั่งจัดตั้ง ศบค. คือ เบอร์สอง รองจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รับคำสั่งสายตรงจาก Single command หรือ ที่ลุงอุตสาห์เรียกว่าเป็น “แม่ทัพปราบโควิด” คู่กาย ไม่รู้ว่าทำไมวัคซีนมาน้อย ต้องโยนให้ สธ.ตอบนี่ก็แย่แล้ว
การตอบคำถามเหมือนให้พ้นๆ ตัวไป เมื่อแม่ทัพไม่รู้ “ลุงตู่” ก็ไม่รู้ด้วยหรือไม่..อันนี้ไม่รู้ แต่งานนี้ทั้ง แม่ทัพและลุงควรรู้ด้วยว่า วิกฤตโควิดระลอกนี้มีเรื่องให้เห็นถึงการบริหารจัดการของ ศบค.ที่ล้มเหลว เละเทะหลายเรื่อง อย่างเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ทุกวันนี้ประชาชนบ่นระคนเอือมระอาเต็มทน หนักหนาสาหัสเข้าคนเขาก็ถามว่า ศบค.และ รัฐบาล เคยได้ยินเสียงเหล่านี้มั้ย
การปฏิเสธความรับผิด จะรับแต่ชอบอย่างเดียว บริบทตั้งแต่แรกตั้ง ศบค. ก็มีประกาศอยู่ทนโท่ นายกฯ มอบอำนาจให้ เลขาฯสมช. “พล.อ.ณัฐพล” เป็นตัวจริงสั่งการตามSingle Command อีกที ไม่ใช่หรือ ?
พูดง่ายๆ เลขาฯ สมช.คือ ตัวจริง
เลขา สมช.เป็นทหาร เป็นแม่ทัพปราบปรามโควิด ที่มีอำนาจ “สั่งหมอ” มากกว่าปลัด สธ. อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ .!
สำหรับกับการบริหารวัคซีน การกำหนดวัคซีนไหนเป็นหลัก วัคซีนไหนเป็นทางเลือก มาจาก คณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่นายกฯใช้ Single command จัดการแล้วให้ “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร" อดีต รมว.สธ.เป็นประธาน มีเจ้าของ รพ.เอกชน เป็นกรรมการ
“โมเดอร์นา” เป็นวัคซีนทางเลือก ให้เอกชนทำธุรกิจได้ เพราะกรรมการชุดนี้
ดังนั้น คนจัดการวัคซีน คือ กรรมการที่มี “นพ.ปิยะสกล กับเจ้าของ รพ.เอกชน” เป็นกรรมการ ซึ่งอยู่ภายใต้เลขาฯ สมช. ผอ.ศบค. อีกทอดหนึ่ง บทบาท สธ.ก็เพียงทำหน้าที่รับคำสั่ง เป็นธุระจัดการวัคซีน เก็บรักษาส่งต่อและฉีดให้ประชาชนตามสั่ง
เห็นว่า เวลานี้คนใน สธ. แม้จะพร้อมรับคำสั่งมาปฏิบัติ แต่ก็มีกระแสว่า ไม่ค่อยอยากทำ โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดกับวัคซีน “โมเดอร์นา” เพราะเห็นว่านี่คือ การเอาเปรียบรัฐ เอาเปรียบประชาชน หากินกับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนและเสียขวัญจากโควิด
ศบค. วันนี้ว่ากันว่า มีกัน 3 คน คือ “ลุง-เลขาฯ สมช.และ นพ.ปิยะสกล” โดย พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่ง พล.อ.ณัฐพล รับคำสั่ง ส่วน นพ.ปิยะสกล ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการแทบทุกชุด ไม่เคยขัดหรือทักท้วงลุง ก็เลยไปกันได้อย่างที่เห็น
เรื่องวัคซีนหากจะหาคนตอบว่า ทำไมวัคซีนไม่มา ทำไมไม่ซื้อวัคซีนยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ ทำไมวัคซีนแอสตร้าเซนนาก้า มาน้อย คอยนาน ก็ต้องถาม 3 คนนี้ คือ ลุงตู่-เลขาฯ สมช.และ นพ.ปิยะสกล ก่อนใครเท่านั้น ป่วยการจะโบ้ยไปที่คนอื่น
นี่คือ ผลงาน Single command การทำงานระดับนโยบายที่ทำให้เกิดปัญหา ...ทำให้ประเทศมาถึงจุดนี้มิใช่หรือ?
** พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รอบนี้ “ลุงตู่” ห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัว แม้จะเป็นความจริง ก็มีสิทธิ์ถูกจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท
ใครจะไปคิดว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 10 จังหวัดในรอบนี้ ที่นอกจากจะกำหนดเวลา ห้ามออกจากเคหสถานในเวลากลางคืน ปิดตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร แล้วยังห้ามโพสต์ “สร้างความหวาดกลัว” แม้จะเป็น “ความจริง” ก็ตาม … โทษหนักจำคุก 2 ปี ปรับหนัก 40,000 บาท
เรื่องนี้ “iLaW” ได้ตั้งข้อสังเกตถึง ข้อกำหนดที่ออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 27) ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ลงนาม ประกาศให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. เป็นต้นไป ว่ามีการ “หมกเม็ด” ข้อห้ามดังกล่าวไว้ ในข้อ11 ดังนี้
“ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตาม มาตรา 9(3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้
1. การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)
2. ที่มีข้อความอันอาจ
2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ
2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น
การฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ใน มาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใดๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรวมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด....
เมื่อย้อนกลับไปดูข้อกำหนดที่ ออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ ฉบับที่ 1 จนถึง ฉบับที่ 26 นั้น ข้อห้ามเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยถูกแก้ไขใดๆ เพิ่งจะมาแก้ไขฉบับที่ 27นี่เอง โดยมีข้อความที่ “สั้นลง” ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ตีความได้ “กว้างขึ้น” ซึ่งมีข้อแตกต่างกันที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว รวมทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 1 จะเป็นความผิดต่อเมื่อเป็นข้อความ หรือข่าวสาร ที่ “ไม่เป็นความจริง” เท่านั้น แต่ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 เอาผิด “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยตัดส่วนที่เคยเขียนว่า “ไม่เป็นความจริง” ออกไป … จึงตีความได้ว่า สามารถเอาผิดกับข้อความที่ “ทำให้ประชาชนหวาดกลัว” ทั้งที่เป็น “ความจริง” และ “ไม่เป็นความจริง”
2. เพิ่มเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามฉบับที่ 1 ห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน “กระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่กินความกว้างอยู่แล้ว … แต่ ฉบับที่ 27 ขยายไป ห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” อันนี้ยิ่งกว้างขึ้นไปอีก
3. ไม่ต้องตักเตือนหรือให้แก้ไขก่อน … ตามฉบับที่ 1 หากเจ้าหน้าที่พบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นความผิด ให้เตือน ให้ระงับ หรือสั่งให้แก้ไขข่าวก่อนได้ โดยไม่ต้องดำเนินคดี ... แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ตัดเนื้อหาส่วนที่ให้เจ้าหน้าที่เตือนออก … แบบนี้ถือว่าฟันได้ทันที ไม่ต้องเตือนก็ได้ !!
แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี จะบอกว่าหากเสนอข่าวข้อเท็จจริง ไม่ถือว่ามีความผิด แต่ข้อกำหนด ที่เป็นลายลักษณ์อักษร เปิดช่องไว้เช่นนี้ ...ทำให้ความผิดเบื้องต้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่จะแจ้งข้อกล่าวหา
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โควิดระบาดหนักเช่นนี้ ย่อมมีผู้โพสต์ “ความจริง” ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาด ความจริงเรื่องคุณภาพของวัคซีน ความจริงเรื่องฉีดวัคซีนครบ2โดสแล้วยังติดเชื้อ และเสียชีวิต ความจริงเรื่องติดเชื้อแล้วไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ …
หากเป็นความจริงที่ “เสียดแทงใจคนในรัฐบาล” แล้วถูกตีความว่าเป็นความจริงที่ทำให้ “ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ก็จะมีความผิดได้ ซึ่งหนักกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะการโพสต์ “ความจริง” ที่ไม่ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อาจผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่มีโทษหนักนี้ได้
เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ลงนามในประกาศข้อกำหนดนี้ ก็ควรที่จะต้องออกมาชี้แจงว่า การพูดความจริง โพสต์ความจริง นั้นมีความผิดหรือไม่ … เอากันให้ชัดชัดไปเลย!!