“ไอลอว์” เตือน ข้อกำหนดใหม่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้วันนี้ ห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัว แม้เป็นความจริง โทษจำคุก 2 ปี ปรับหนัก 40,000 บาท
วันนี้ (12 ก.ค.) แฟนเพจเฟซบุ๊ก iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้โพสต์ข้อเขียนถึงข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ที่มีข้อห้าม สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นความจริง โทษ 2 ปี ปรับ 40,000 บาท ระบุข้อความว่า
“12 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่มความเข้มงวดของข้อห้ามต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายวันหลัก 9,000 คน และระบบสาธารณสุขของประเทศไม่อาจรองรับสถานการณ์ได้ มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน ถูกนำมาใช้อีกครั้ง พร้อมกับการสั่งปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น.
ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ลงนามประกาศใช้โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2564/E/154/T_0001.PDF ยังเขียนไว้ในข้อ 11. เป็นข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็น ภายใต้สถานการณ์ที่อ่อนไหวของโรคระบาด ดังนี้
“ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้
1. การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)
2. ที่มีข้อความอันอาจ
2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ
2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น
การฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใดๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด
ก่อนหน้าการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ก็มีข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2563/E/069/T_0010.PDF กำหนดข้อห้ามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนในทำนองเดียวกัน และใช้มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือน โดยระหว่างช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการออกข้อกำหนดเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือผ่อนคลายข้อห้ามต่างๆ มาแล้วอีก 25 ฉบับ แต่ข้อห้ามเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยถูกแก้ไขใดๆ จนกระทั่งข้อกำหนดฉบับที่ 27 ออกมาบังคับใช้ใหม่ เท่ากับเป็นการยกเลิกข้อห้ามเดิมในข้อกำหนดฉบับที่ 1 แล้วใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 นี้แทน
ข้อกำหนดฉบับที่ 1 เคยเขียนข้อห้ามเรื่องการเสนอข้อมูลข่าวสารไว้ในข้อ 6 ดังนี้ “ข้อ 6 การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
มีข้อสังเกตว่า การเขียนข้อห้ามในข้อกำหนดฉบับที่ 27 มีลักษณะ “สั้นลง” กว่าฉบับที่ 1 โดยมีข้อแตกต่างกันที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1) ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว รวมทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 การเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจะเป็นความผิดต่อเมื่อเป็นข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ “ไม่เป็นความจริง” เท่านั้น แต่ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 เอาผิด “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยตัดองค์ประกอบที่เคยเขียนว่า “ไม่เป็นความจริง” ออก ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้เขียนข้อกำหนดฉบับที่ 27 ว่า อาจต้องการเอาผิดกับข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง
2) เพิ่มเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน “กระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งก็เป็นข้อห้ามที่กว้างขวางมากอยู่แล้ว และใช้มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือคำอธิบายว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแบบใดที่ส่งผลเสียจนต้องขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก เพราะในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ขยายไปห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” ด้วย แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้เขียนข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ต้องการขยายขอบเขตของข้อห้ามออก และให้เอาผิดกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายมากขึ้น
3) ไม่ต้องตักเตือนให้แก้ไขก่อน ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 หากเจ้าหน้าที่พบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นความผิด ให้เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวก่อนได้ โดยไม่ต้องดำเนินคดี หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงจึงให้ดำเนินคดี ทั้งตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ตัดเนื้อหาส่วนที่ให้เจ้าหน้าที่เตือนออก แม้ว่าข้อกำหนดฉบับที่ 27 จะตัดข้อความที่ให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ออกด้วยแล้ว แต่การตัดสินใจดำเนินคดีตามกฎหมายใดก็เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว หากเห็นว่ากากระทำใดเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยก็ยังสามารถดำเนินคดีได้ (ทำความเข้าใจ ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/600)
ข้อมูลจากฐานข้อมูลของศาลอาญา (http://aryasearch.coj.go.th/search200.php) ภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้อ 6 มีคนถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดมาแล้วหลายกรณี ตัวอย่างเช่น
กรณีที่ 1 จำเลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นข้อความทำนองว่า มีคำเตือนจากสำนักงานไปรษณีย์ ขอให้ผู้ได้รับจดหมายหรือพัสดุแยกใส่ถึงไว้ 24 ชั่วโมง ฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนนำเข้าบ้าน เพราะมีคนได้รับเชื้อโควิดแล้ว ซึ่งบริษัท ไปรษณีย์ไทย ยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะจากข้อความมีลักษณะเป็นคำเตือน ไม่ถึงขนาดก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือทำให้เกิดความหวาดกลัว
กรณีที่ 2 จำเลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เนื้อหาสรุปได้ว่ายาบ้าสามารถรักษาโรคโควิดได้ โดยกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
กรณีที่ 3 จำเลยโพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก เนื้อหาสรุปได้ว่า วันที่ 10 เมษายน 2563 จะมีประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ ให้เตรียมตุนอาหารน้ำดื่มให้เพียงพอ ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษครึ่งหนึ่ง ให้รอลงอาญา คุมประพฤติ และให้ทำกิจกรรมบริการสังคม
กรณีที่ 4 จำเลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ทำนองว่า อำเภอบางบัวทอง และบางใหญ่ จ.นนทบุรี มีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วแต่มีการปิดข่าว ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 จำคุก 2 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษครึ่งหนึ่ง ให้รอลงอาญา
เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เอาผิดการโพสต์ “ข้อความอันเป็นเท็จ” ที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เมื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับข้อห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันไม่เป็นความจริงและทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว จึงอาจเป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปพร้อมๆ กันหรือเป็น “การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท” ศาลจึงพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงข้อหาเดียวในฐานะบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่า ไม่ได้ลงโทษตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 โดยตรง
แต่เมื่อข้อกำหนดฉบับที่ 27 ได้ขยายฐานความผิดให้กว้างออก รวมถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวที่ “เป็นความจริง” ด้วยแล้ว การโพสต์ข้อความที่เป็นความจริง ย่อมไม่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) แต่อาจผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ได้