น.2 เผย กระแสดารา นักร้อง คนดัง ออกมาแสดงความคิดเห็น เข้าข่ายผิด 2 ข้อหา หลัง “สนธิญา” เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ยันตำรวจทำตรงไปตรงมา รองโฆษก ตร.ชี้ แม้เป็นสิทธิ แต่ต้องไม่กระทบคนอื่น
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวว่า กรณี นายสนธิญา สวัสดี นำหลักฐานพร้อมหนังสือเข้ายื่น พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.เพื่อตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ กรณีดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงกว่า 20 ราย แสดงความคิดเห็น (Call out) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายสืบสวน อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มผู้มีชื่อเสียง หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ว่าผิดกฎหมายหรือไม่
สำหรับความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทด้วยโดยการโฆษณา ถือเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนความผิดฐาน นำข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือน หรือปลอมทั้งหมด หรือบางส่วน เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือภาพรวม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) โดยพิจารณาเป็นรายบุคคลว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือไม่ หรือแม้โดยสุจริตแต่เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ก็ถูกดำเนินการตามกฎหมายแยกออกไป
สำหรับกรณี น.ส.ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ แร็ปเปอร์สาวชื่อดัง เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ดูหมิ่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 393 ป.อาญา ได้สอบสวนและเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท นอกจากนี้ พบว่ามีบุคคลเข้าข่ายความผิดอีกจำนวนมาก ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือสร้างข่าวปลอม (เฟกนิวส์) โดย บช.น.ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) ในการดำเนินคดี ทั้งนี้ ถ้าคดีขาดอายุความไม่สามารถดำเนินการได้
“ข้อกฎหมายระบุไว้ชัดเจน การกล่าวใดๆ หรือกล่าวพาดพิง หรือเกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด จะเป็นองค์ประกอบของข้อกฎหมายว่า ในการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดูหมิ่น ดูหมิ่นซึ่งหน้า หมิ่นประมาท หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หรือผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะต้องตรวจสอบจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่าการกระทำของแต่ละบุคคลเข้าองค์ประกอบ หรือข้อกฎหมายใดหรือไม่ ข้อเท็จจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถบิดเบือน หลีกเลี่ยง หรือดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้ ตำรวจทำตรงไปตรงมาอยู่แล้ว” โฆษก บช.น.กล่าว
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง ผบก.สอท.ในฐานะรองโฆษก ตร.กล่าวว่า การแสดงสิทธิเสรีภาพทางความคิดผ่านโซเชียล ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่ในการใช้สิทธินั้นต้องไม่ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช่อ้างว่ามีสิทธิตามกฎหมายแล้วจะพูดอะไรก็ได้ ในความผิดที่เกิดขึ้นแยกเป็น 2 ส่วน ถ้าไปพาดพิงถึงบุคคลใดในเรื่องความผิดต่อส่วนตัว ก็เป็นเรื่องของผู้เสียหายนั้นๆ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่กล่าวถึง ยกเว้นถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถกล่าวโทษได้ทันที
“อยากจะฝากว่าคงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง คงไม่ใช่ว่าการพูดจาลักษณะใดผิด หรือไม่ผิด ก็คงไปดูคำพิพากษาฎีกาที่เกิดขึ้นอดีต รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา” รองโฆษก ตร.กล่าว