xs
xsm
sm
md
lg

อารมณ์ร่วมไม่มี-กลัวโควิด ม็อบ 24 มิถุนาฯไม่เวิร์ก !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ได้เห็นกันไปแล้วสำหรับบรรยากาศความเคลื่อนไหวของบรรดาสารพัดม็อบที่ “ดาวกระจาย” แยกย้ายกันทำกิจกรรม และมีที่มาจากสารพัดกลุ่ม เช่น กลุ่ม “ไทยไม่ทน” ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่มีกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ในปีกที่แยกออกมา กลุ่ม “ประชาชนคนไทย” ที่นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ รวมไปถึงกลุ่ม “สามนิ้ว” ที่มาในหลากหลายชื่อ เช่น “ราษฎร” บ้างอะไรบ้าง จนจำไม่ไหว โดยพวกเขานัดดีเดย์กันในวันที่ 24 มิถุนายน ตรงกับวันครบรอบ 89 ปี ของวัน “ยึดอำนาจพระมหากษัตริย์” โดย “กลุ่มคณะราษฎร์”

จะว่าไปแล้วบรรยากาศน่าจะกร่อยกว่านี้ถ้าบังเอิญไม่มาตรงกับวันที่มีการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาควบคู่กัน ตรงกันพอดี แต่หากพิจารณากันตามความเป็นจริงไม่ว่าในหรือนอกสภาบรรยากาศมันก็กร่อยไม่ได้แตกต่างกัน เพราะเป็นการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นไปตามสภาพ “ความเป็นจริง” นั่นคือ มาแบบ “เอามัน” แต่ “ไม่มีจริง” หรือ “ทำไม่ได้จริง” กลายเป็นว่า ไป “หลงกลนักการเมือง” ที่คว้า “พุงปลา” ได้ประโยชน์ไปเสียฉิบ

หากเริ่มโฟกัสไปที่ “ม็อบ” หรือกลุ่มผู้ชุมนุมนอกสภา ที่แต่และกลุ่มเน้นเป้าหมายแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มไทยไม่ทน และ กลุ่มประชาชนคนไทย ที่เน้นกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออก แล้วให้สภาสรรหานายกรัฐมนตรีจากคนนอก ซึ่งไม่ว่ามองในมุมไหนมันห่างไกลจากความเป็นจริงแบบ “สุดกู่” เพราะหากพิจารณาจากจำนวนคนที่เข้าร่วมแล้วมันแค่ “หยิบมือ” ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องที่ว่าหากสร้างแรงกดดันได้สำเร็จจริง เชื่อหรือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกวิธีลาออก เพราะเชื่อว่าต้องเลือกวิธี “ยุบสภา” อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงข้อเสนอเรื่อง “นายกฯคนนอก” แม้ว่ากติกาจะเปิดช่องเอาไว้ให้ทำได้ แต่มันยากยิ่งนัก จนแทบจะเรียกว่า “เพ้อฝัน” เพราะนอกจากไม่มีพรรคการเมืองไหนยอมแล้ว ยังมองไม่ออกว่า “คนนอก” ที่ว่านั้นจะหากันมาได้ หรือจะมีใครที่จะยอม “เดือดร้อน”

ขณะที่พวก “สามนิ้ว” ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเด็กๆ เยาวชน ที่ถูกมองว่าเป็นพวก “ไร้ประสบการณ์” มีแต่ไฟแรงตามตำรา คิดแต่จะ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งแน่นอนว่ามีเป้าหมายไกลกว่านั้น แต่ไม่กล้าเน้นย้ำ แต่จากพฤติกรรมที่ผ่านมามันเห็นชัด เพียงแต่ว่าเวลานี้บรรดาแกนนำมี “เงื่อนไขประกันตัว” กับศาล จึงยังไม่กล้า เพราะจะกระทบกับอิสรภาพในวันหน้า และกระทบกับการเคลื่อนไหว รวมไปถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องการยกร่างใหม่ต้องการ “รื้อทุกหมวด” เป้าหมายคือหมวดพระมหากษัตริย์ แต่คำถามก็คือเวลานี้มันเป็นไปไม่ได้ คำถามคือ สถาบันฯได้ “สร้างเงื่อนไข” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดนั้นแล้วหรือไม่

ในทางตรงกันข้ามมีแต่พวกนักการเมือง หรือเอาเข้าจริงบรรดาแกนนำสามนิ้วด้วยกันเองต่างหากที่สร้างเงื่อนไขทำลายกันเอง มีความแตกแยก “ชิงเด่น” ด้วยกันเอง มีการแฉโพยเรื่องทุจริตอมเงินบริจาคจนน่าสะอิดสะเอียนไปทั่ว และก็ไม่ต้องแปลกใจที่การชุมนุมแต่ละครั้งมีคนเข้าร่วมแค่หลักสิบหลักร้อยเท่านั้น

หากจะโฟกัสเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรียกร้องให้ยกร่างใหม่หรือ “ยกร่างทั้งฉบับ” นั้นก็สามารถทำได้ เสนอได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีทางสำเร็จ นอกจากต้องเกิดจาก “พลังมวลชนมหาศาล” สร้างแรงกดดัน เรียกว่ามีเงื่อนไขเผด็จการเต็มร้อย หรือเกิดการทุจริตสร้างความเสียหายจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่เมื่อสำรวจอารมณ์ที่เห็นอยู่ตรงหน้า ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ “ไทยเฉย” เสียมากกว่า เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ได้ทำให้ตัวเองอยู่ดีกินดีขึ้นทันตา และประชาธิปไตย ที่ว่านั้น “มีจริงอยู่ในโลกนี้หรือเปล่า” และที่สำคัญในยุคสมัยปัจจุบันมีดีจริง แก้ปัญหาสารพัดนึกจริงหรือไม่

นั่นว่ากันถึง “อารมณ์ร่วม” แต่ในความเป็นจริงนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จต้องแก้ไขกันในสภา ซึ่งต้องใช้เสียงของ ส.ว.อย่างน้อยไม่ต่ำว่าหนึ่งในสามหรือ 84 เสียง ที่กำหนดเป็นกติกาในการโหวตวาระแรก ไม่ว่าจะตั้งข้อรังเกียจ ส.ว.แค่ไหนก็ตาม ก็ต้องมีเสียงของพวกเขามาสนับสนุนดังที่รู้กันอยู่ ส่วนที่เสนอให้ “ปิดสวิตซ์” มันก็เหมือนกับ “พูดเอาเท่” เท่านั้น อีกทั้งหากต้องการเสนอยกร่างใหม่ หรือแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการลงประชามติก่อน ซึ่งทั้งสองอย่างมักยากมาก และต้องใช้เวลาใช้งบประมาณจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากความเป็นจริงและเป็นไปได้ในเวลานี้ก็คือ รัฐธรรมนูญกำลังจะมีการแก้ไขในบางมาตรา โดยเป็นการ “สมประโยชน์” ของบางพรรคการเมือง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะย้อนกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใช้ “บัตรสองใบ” และมีโอกาสสำเร็จมากที่สุด หากเป็นแบบนี้บรรดาพรรคเล็ก ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคก้าวไกล ที่ได้ประโยชน์มาที่สุดจากรัฐธรรมนูญที่เขาประณามว่าเป็นเผด็จการ ก็จะเสี่ยงสูญพันธุ์ หรือ “ต่ำสิบ” ขณะที่พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ รวมทั้งพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์มากกว่า

เมื่อวกกลับมาที่บรรยากาศการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ล้วนเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อดูจาก “อารมณ์ร่วม” และบรรยากาศรอบตัวแล้วมันยังห่างไกลนัก ทั้ง “แบกกราวด์”ของแกนนำที่ไม่เคลียร์ เป้าหมายที่ “เพ้อฝัน” รวมไปถึงคนยังกลัวตายจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดหนัก มันก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น