เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้ม เริ่มเห็นชัดแล้วว่ากำหนดการฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นไปนั้นดูท่าคงจะไม่ตรงตามกำหนดการแล้ว เพราะไม่มีพูดแบบยืนยันหนักแน่น มีแต่เปลี่ยนเป็น“ภายในเดือนมิถุนายน”เท่านั้น ทำให้สรุปก็คือจากเดิมที่กำหนดวันฉีด ตั้งแต่ 7 มิถุนายน สำหรับ “แอสตร้าเซเนก้า”เป็นวันอื่นแล้ว เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน แต่ก็ไม่มีใครออกมายืนยันชัดเจน
เพราะแม้วัคซีน ยี่ห้อ “แอสตร้าฯ”จะผลิตโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ในบ้านเราก็ตาม แต่เราก็แค่“รับจ้างผลิต”และที่ผ่านมา วัคซีนยี่ห้อนี้ก็มีการส่งมอบล่าช้าจากการที่ต้องนำไปเกลี่ยให้กับบางประเทศที่สั่งซื้อเข้ามาเหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศในสหภาพยุโรป เคยมีการฟ้องร้องกันมาแล้วหลังจากเกิดกรณีล่าช้า
แต่เอาเป็นว่าภายในเดือนนี้คงจะได้รับวัคซีน ส่วนจะเป็นจำนวน 6 ล้านโดส ตามที่เคยระบุก่อนหน้านี้หรือไม่ค่อยมาว่ากัน หรืออาจไม่ครบ 6 ล้านโดสก็ได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็กล่าวว่า“ในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีวัคซีนเข้ามาอย่างเพียงพอทั้งวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา และวัคซีนทางเลือก แต่ไม่ว่าจะจัดหาอย่างไรก็ต้องเข้ามาในช่องทางการติดต่อขึ้นทะเบียนโดยบริษัทที่ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนของบริษัทใหญ่จะต้องมาติดต่อกับองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อจะรับรองมาตรฐานและขออนุญาตการนำเข้า”
ขณะที่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่เผยออกมาจากเพจชมรมแพทย์ชนบท ที่ระบุวันที่ 31 พฤษภาคม ได้เผยตัวเลขวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่จะได้รับจากการผลิตของ บริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ ในเดือนมิถุนายน มีจำนวน 1.8 ล้านโดสเท่านั้น ในความหมายก็คือ “ไม่มาตามนัด”หรือ“มาน้อย” ทำให้ทางชมรมแพทย์ชนบท เสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ใช้วัคซีนที่มีจำกัดดังกล่าวเร่งฉีดให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อสกัดการแพร่ระบาดที่จะลุกลามไปทั่วประเทศ
ในความหมาย “กระสุนมีจำกัดต้องใช้ให้เกิดผลที่สุด”และสาเหตุที่เลือกระดมฉีดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอที่สุด และควบคุมการระบาดได้ยากที่สุดอีกด้วย
จากความเป็นจริงด้านตัวเลขของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่ผลิตโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เดิมมีการระบุว่าจะมีจำนวน 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน แต่เมื่อไม่มาตามนัด ซึ่งทางชมรมแพทย์ชนบทเผยตัวเลขออกมาว่ามีแค่จำนวน 1.8 ล้านโดสเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้อง“ปลดล็อก” ให้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยกระดับเป็น “หน่วยงานของรัฐ”สามารถไปเจรจาซื้อวัคซีน จาก“ซิโนฟาร์ม”ของจีนได้
ในล็อตแรกจะเข้ามา 1 ล้านโดส โดยเรียกว่าเป็น“วัคซีนทางเลือก”ตามที่รู้กัน ซึ่งจะเป็นในลักษณะที่หน่วยงานภาคเอกชน เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ ออกเงินซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ หรือสั่งซื้อผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในลำดับถัดไป เพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงานในบริษัทของตัวเอง (บอกว่าฉีดฟรี) และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็ไม่เอากำไร เพียงแต่เป็นผู้สั่งซื้อให้เพราะบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะไม่เจรจากับบริษัทเอกชน จะเจรจากับรัฐต่อรัฐหรือ”หน่วยงานรัฐ”ในแบบที่มีการยกฐานะของราชวิทยาลัยฯ นั่นแหละ
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากตัวเลขของวัคซีน ซิโนฟาร์ม ตามที่ได้ยินมาเชื่อว่าน่าจะขายให้ไทยผ่านทางสถาบันจุฬาภรณ์ฯ น่าจะมีจำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งเชื่อว่าจะมีการทยอยสั่งเข้ามา เริ่มจากล็อตแรก 1 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน
เมื่อมีช่องทางแบบนี้ทำให้มีการเคลื่อนไหวสั่งจองวัคซีนกันคึกคัก โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีงบประมาณในการสั่งซื้อวัคซีนของตัวเอง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหญ่ๆ และในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ต่างขยับกันมาพักใหญ่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่อง“ระเบียบ”ของกระทรวงมหาดไทย ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย “ปลดล็อก”โดยเร็ว เช่นเดียวกัน ซึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นการลดภาระงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง และที่สำคัญเป็นการลดแรงกดดันลงบ้าง หลังจากวัคซีนหลักคือ แอสตร้าฯ “ไม่มาตามนัด”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากก็คือปัญหา “ทุจริต”จากไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ ซึ่งปรามาสไว้ล่วงหน้าได้เลยก็คือ “ต้องเกิดขึ้นแน่นอน”อีกทั้งยังมีเรื่องความขัดแย้งของ“การเมืองในระดับพื้นที่”ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมาอีกเช่นกัน รวมไปถึงงบประมาณแต่ละท้องถิ่น มีไม่เท่ากัน ก็จะเปิดปัญหาอีก แต่หากมีมาตรการควบคุมที่ดี หรือให้หน่วยงานมาตรฐานเป็นควบคุมในการกระจายวัคซีน ซึ่งเวลานี้ยังมองไม่เห็น !!