xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสฝ่ายค้านในสภา คว่ำ “ลุงตู่” เป็นศูนย์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณากันตามระบบก็ต้องบอกว่าในช่วงเปิดสภาสมัยสามัญในเวลานี้ หากฝ่ายค้านต้องการ “คว่ำ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของเขา ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสดีที่สุดแล้ว เนื่องจากเป็น “ไฟต์บังคับ” จากการที่รัฐบาลต้องนำ “กฎหมายการเงิน” เข้าสภาฯหลายฉบับ เริ่มจาก ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวนกว่า 3.1 ล้านล้านบาท โดยมีกำหนดพิจารณาในที่ประชุมสภาในวาระแรก ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคมนี้ จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน

ทราบกันดีว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินที่มีความสำคัญ ทั้งต่อบ้านเมือง และสำคัญต่อรัฐบาลด้วย เพราะหากไม่ผ่านความเห็นชอบตั้งแต่วาระแรก รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ก็มีทางเลือกสองทางคือ “ลาออก” หรือ “ยุบสภา”

ขณะเดียวกัน ยังมีกฎหมายการเงินที่มีความสำคัญไม่แพ้กันที่จะต้องทยอยเข้าสู่การพิจารณาของสภาในโอกาสถัดไป ก็คือ ร่าง พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก็ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาหลังจากนี้เช่นเดียวกัน

ร่างกฎหมายการเงินดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญ และชี้อนาคตของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ไปพร้อมกันด้วย

แต่ขณะเดียวกัน นี่คือ ระบบรัฐสภาที่ต้องมีการตรวจสอบตามมาตรฐาน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเป็นช่วงเปิดสภาสมัยสามัญนับจากนี้เป็นต้นไป ก็ถือเป็นโอกาสของสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ที่จะต้องหาทาง “คว่ำ” รัฐบาล โดยเฉพาะหากพิจารณาจากเป้าหมายหลักก็คือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้ารัฐบาลนั่นเอง

เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ หรือความน่าจะเป็นในเวลานี้ สำหรับภารกิจการ “ล้ม” ดังกล่าวนั้น “ยังห่างไกล” จากความเป็นจริงมากนัก เพราะหากบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” ก็อาจจะเป็นการพูดเวอร์เกินไป เอาเป็นว่ายังห่างไกลก็แล้วกัน เพราะเมื่อพิจารณาจากตัวแปรหลักที่จะทำให้ร่างกฎหมายการเงินสำคัญเหล่านี้ไม่ผ่านสภาฯ ก็น่าจะมาจาก “ฝ่ายรัฐบาล” ด้วยกันมากกว่า โดยเฉพาะจาก “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่เป็นพรรคร่วมหลัก ในเวลานี้ก็คือ พรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ นั่นแหละ เพราะหากมีพรรคใดพรรคหนึ่งถอนการสนับสนุน ก็ต้องถือว่า “จบเห่” ทันที

ส่วนพวกพรรคเล็กพรรคน้อยที่ขอมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรอง “ขอกล้วย” เพิ่มก็ตาม ในช่วงที่คิดว่า “ขอได้” ในเวลาสำคัญแบบนี้ แต่ถึงอย่างไรเมื่อนับกันตามจำนวนเสียงในมือรัฐบาลแล้ว เวลานี้บรรดาพรรคเล็กพวกนี้ยังไม่ถือว่า “เป็นตัวแปร” ที่จะมาต่อรองอะไรได้มากนัก เนื่องจากเวลานี้จำนวนเสียงรัฐบาลพ้น “ปริ่มน้ำ” ไปหลายสิบเสียงแล้ว แต่ “ตัวแปรหลัก” ก็คือ จากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสองพรรคดังกล่าวนั่นเอง

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุด และความเป็นไปได้ของทั้งสองพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานี้ รวมไปถึงอนาคตอันใกล้แล้ว พวกเขายังยินดี และยัง “สนุก” กับการเป็นฝ่ายรัฐบาลต่อไป นั่นคือ พรรคภูมิใจไทยยังมีโครงการสำคัญต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หลายโครงการใหญ่ยังต้องสานต่อ เช่น งานด้านคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องประมูล ไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเร่งโชว์ฝีมือเก็บเกี่ยวจากผลงานในกระทรวงที่กำกับดูแล เช่น กระทรวงพาณิชย์ ที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคก็กำลังสนุกอยู่กับตัวเลขการส่งออกที่เติบโต และโชว์ผลงานการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ด้านเศรษฐกิจที่เหลืออยู่เพียงเครื่องเดียวในเวลานี้ต่อไป

ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศชัดว่า “ไม่มีความคิดที่จะถอนตัว” มันก็ยิ่งมองเห็นภาพชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังต้องกอดคอกันไป และหากมีรายการตีรวนให้กฎหมายงบประมาณคว่ำ มันย่อมไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะกับตัวเอง ที่อนาคตข้างหน้ามีแต่ความไม่แน่นอน

ดังนั้น หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้วโอกาสที่ฝ่ายค้านจะคว่ำร่างกฎหมายการเงินฉบับสำคัญนี้ แทบจะมองไม่เห็น รวมไปถึงโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคหลักจะถอนตัว หรือ “โหวตคว่ำ” ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่จะได้เห็นในตลอดช่วงสองสามวันในสภาฯ ก็จะมีแค่ “กลิ่นน้ำลาย” ของพวก ส.ส.ที่จะคิดสรรหาคำด่า คำโจมตีมุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องโรคโควิด-19 ซึ่งรูปการณ์ก็ไม่ต่างจากการ “ซักฟอก” แต่ก็มีผลน้อยมาก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น