xs
xsm
sm
md
lg

เลิกสูบบุหรี่ ไม่เข้าเป้า เครือข่าย สสส.ผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 31 พ.ค.64 นำเสนอรายงานพิเศษ เลิกสูบบุหรี่ ไม่เข้าเป้า เครือข่าย สสส.ผูกขาด



องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งโดยปกติแล้วในเดือนนี้เราจะได้เห็นการเผยแพร่ความรู้เรื่องพิษภัยและโทษของการสูบบุหรี่ พร้อมรณรงค์เชิญชวนเลิกสูบบุหรี่

ด้วยการแนะนำวิธีการเลิกสูบบุหรี่ต่าง ๆ อาทิเช่น การหักดิบ การใช้ผลิตภัณฑ์ให้นิโคตินทดแทน เป็นต้น

ในระยะ 2 ปีนี้ การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งกำลังระบาดอย่างรุนแรงสร้างผลกระทบให้กับสาธารณสุขระดับโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ ณ วันนี้ มีผู้ติดเชื้อทั้งประเทศรวมแล้วเกินกว่า 1 แสนราย และเสียชีวิตไปกว่า 700 ราย

ทำให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขพุ่งความสนใจไปที่การรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันการระบาดในระลอกใหม่ที่อาจะเกิดขึ้น

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาพิษภัยจากควันบุหรี่ก็ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ทุกคนในประเทศต้องให้ความสนใจและร่วมมือกันหาทางแก้ไข ข้อมูลของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบใน พ.ศ. 2560 พบว่า

คนไทยเสียชีวิตเพราะบุหรี่ถึงปีละ 72,656 คน หรือมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ถึง 100 เท่า และหากมองตัวเลขระดับโลก การเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ทั่วโลกมีถึง 8 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโควิด -19 ถึงเกือบ 3 เท่า

องค์การอนามัยโลกจึงได้ออกแคมเปญการรณรงค์งดสูบบุหรี่ประจำปีนี้ว่า Commit to Quit เพื่อจูงใจผู้สูบบุหรี่ให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ พร้อมรณรงค์สร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ความพยายามในการเลิกบุหรี่มีผลสำเร็จมากขึ้น

แน่นอนว่า การเลิกบุหรี่อย่างถาวร คือวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่กังวลเรื่องสุขภาพ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ผู้สูบบุหรี่ทุกคนที่ตัดสินใจจะเลิกบุหรี่ และยังมีผู้สูบบุหรี่จำนวนมากที่เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ

ข้อมูลจากการศึกษาขององค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอฟดีเอ) ระบุว่า ในปี 2561 ผู้สูบบุหรี่ชาวอเมริกัน 55% ต้องการเลิกบุหรี่ แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6-12 เดือน

ขณะที่ข้อมูลของกรมควบคุมโรค สหรัฐอเมริกาชี้ว่าผู้สูบบุหรี่ต้องใช้ความพยายามมากกว่า 8-11 ครั้งในการเลิกบุหรี่ให้ได้ และผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทนอาจไม่ได้ผลสำหรับผู้สูบบุหรี่ทุกคน

สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติระบุว่าผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกหรือเคยพยายามเลิกบุหรี่มี 20%
ตัวเลขเหล่านี้อาจทำให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขไทยต้องหันกลับมามองว่า

มาตรการลดการบริโภคบุหรี่ รวมถึงการรณรงค์เลิกบุหรี่ที่มีอยู่ทุกวันนี้ จูงใจช่วยลดอันตรายได้จริง และมีประสิทธิภาพช่วยให้เลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดหรือไม่

ขณะที่ความพยายามในการหาทางรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เราได้เห็นทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชนออกมาร่วมมือช่วยกันหาทางออก มองหาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ หรือนวตกรรม เช่นการผลิตวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันโรคให้กับคนในประเทศ

แต่มาตรการควบคุมการบริโภคบุหรี่และการแก้ปัญหาพิษภัยของควันบุหรี่ที่ผ่านมา กลับเป็นหน้าที่ของภาครัฐคือกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ทำงานรณรงค์ด้านสุขภาพ ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพชีวิต หรือ สสส.

และเครือข่ายของ สสส. ที่ใช้งบประมาณสำหรับการอุดหนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพกว่าปีละ 3.4 พันล้านบาท และการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างกระแสในสังคมอีกมากกว่าปีละ 400 ล้านบาท

แต่เรากลับไม่เห็น การลดลงของจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้ง สังคมไทยยังคงมีความเข้าใจที่จำกัดและไม่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ ผู้สูบบุหรี่ได้รับพิษและสารก่อมะเร็งมาจากควันบุหรี่ที่เกิดจากการจุดไฟเผาไหม้บุหรี่

ขณะที่นิโคตินไม่ใช่สารก่อมะเร็ง และไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคร้าย แต่เป็นสารที่ทำให้เสพติดและทำให้ร่างกายอยากสูบบุหรี่

ดังนั้น หากเราสามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอ กำจัดการเผาไหม้ออกจากกระบวนการสูบบุหรี่ได้ ปัญหาพิษภัยของควันบุหรี่ก็จะลดลงได้ และสามารถลดงบประมาณของประเทศที่เคยใช้สำหรับการดูแลรักษาและป้องกันผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 27,000 ล้านบาทลงได้

หากเรามีการทบทวนแนวการควบคุมบุหรี่ใหม่ หรือหาวิทยาการใหม่ ๆ และศึกษางานวิจัยที่จะช่วยทำให้คนไทยลดอันตรายจากยาสูบให้ได้มากกว่าเดิม เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น