วันนี้ ( 30 พฤษภาคม 2564) นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญว่า “COMMIT TO QUIT” สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดคำขวัญว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” สสส. ได้ประสานพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่ โดยสนับสนุนมาตรควบคุมยาสูบในทุกระดับ ส่งเสริมมาตรการสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ให้ความรู้สร้างความตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ พร้อมให้บริการบำบัดการติดบุหรี่และผลิตภัณฑ์นิโคติน เพื่อให้คนไทยเลิกบุหรี่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งการให้บริการบำบัดการติดบุหรี่มีทั้งในรูปแบบของการใช้ยาและไม่ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ อาทิ คลินิกฟ้าใส ร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ ระบบบริการพยาบาลเพื่อเลิกบุหรี่แบบ One Stop Service สายเลิกบุหรี่ 1600 การเสริมพลังชุมชนในการช่วยเลิกบุหรี่โดย อสม. การนวดกดจุดสะท้อนเท้าช่วยเลิกบุหรี่ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือ ลดอัตราการสูบบุหรี่ให้เหลือ 15%ของประชากรทั่วโลก หรือมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 9 ล้านคน ภายในปี 2568
“ขณะนี้ทั่วโลกร่วมถึงประเทศไทยได้รัยผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเชื้อจะทำลายปอด การสูบบุหรี่ทุกชนิดทำให้ปอดอักเสบรุนแรง บุหรี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำลายปอดและเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส และแพร่เชื้อไวรัสผ่านละออง ควันบุหรี่ชนิดต่างๆ หากคนสูบบุหรี่ติดโควิด-19 จะส่งผลให้อาการทรุดหนักได้ สสส. จึงขอเชิญชวนให้ใช้โอกาสนี้เลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อสุขภาพของตัวเอง และเพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ มศว. ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สสส. และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาเลิกบุหรี่ชนิดใหม่ในประเทศไทยที่ชื่อว่า “ไซทิซีน” (Cytisine) ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติจาก “เมล็ดจามจุรีสีทอง” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน ทำให้ผ่อนคลายไม่หงุดหงิดในขณะที่เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ ซึ่งยาชนิดนี้ใช้มานานกว่า 60 ปีในยุโรปตะวันออก ถือเป็นยาเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยมาก จึงเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองและสนับสนุนให้รัฐบาลทุกประเทศจัดหาไว้เพื่อช่วยให้ประชาชนของตนเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ที่ราคาถูกได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้งานวิจัยของประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ด้วยยาชนิดนี้ 500 คน เทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาชนิดอื่นอีก 500 คน โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อได้ผลการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว อภ.จะทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) จากนั้นจะผลักดันยานี้ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
“ยาชนิดนี้มีต้นทุนการผลิตที่ไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับยาเลิกบุหรี่ชนิดอื่นๆ ที่มีจำหน่ายอยู่แล้วในประเทศไทย มั่นใจ อภ.จะสามารถกำหนดราคาขายให้มีราคาถูกเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ดีและราคาถูกได้อย่างทั่วถึง สำหรับวิธีใช้ยาชนิดนี้ ยามีตัวยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด โดยในช่วง 3 วันแรก จะต้องกิน 6 เม็ด/วัน จากนั้นลดขนาดลงเรื่อยๆ เหลือ 5 เม็ด/วัน จากนั้น 4 เม็ด/วัน และ 2 เม็ด/วันไปจนครบ 25 วัน โดยขณะนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พยายามหาวิธีการกินยาชนิดนี้ที่ง่ายขึ้น โดยพบว่าอาจกินแค่ครั้ง 2 เม็ด วันละ 3 เวลา ตลอด 25 วันไปเลยก็ได้ผลไม่ต่างกัน” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ไซทิซีน เป็นยาที่ดี ปลอดภัย ราคาถูก มีงานวิจัยนานาชาติรองรับมากมายว่ามีประสิทธิผลดีจริง จึงเป็นที่สนใจมากของหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามนำเอายานี้ ซึ่งเดิมไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ยา เข้าไปจดทะเบียนที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหวังผลเป็นเจ้าของยานี้เสียเองและเล็งเห็นกำไรทางธุรกิจ สำหรับประเทศไทย ยังไม่มียาชนิดนี้อยู่ในระบบบัญชียาของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐของประเทศไทยต้องรีบดำเนินการผลักดันยานี้เข้าสู่ระบบบัญชียาโดยเร็ว เพื่อให้ยานี้เป็นสมบัติของคนไทยทุกคนต่อไป การมียาเลิกบุหรี่คุณภาพดีและราคาถูก ผลิตได้เองโดยภาครัฐ จึงนับเป็นก้าวย่างสำคัญของบริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกหนีจากผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อย่างถาวรยิ่งขึ้น
“ภาคีเครือข่ายมีการขับเคลื่อนรณรงค์การเลิกบุหรี่ร่วมกับ สสส. อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยมีคลินิกฟ้าใส ให้บริการเลิกบุหรี่และส่งต่อบำบัดรักษาในระบบบริการสุขภาพให้บริการทั่วประเทศ จากสถิติของเครือข่ายคลินิกให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่เฉลี่ยใน 1 ปี มีผู้เข้ารับบริการสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ 30-40% ในขณะที่รายที่ไม่ใช้ยาสามารถเลิกได้สำเร็จเพียง 10% และในกลุ่มที่เลิกด้วยตนเอง โดยไม่ได้เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ไม่ว่ารูปแบบใดๆ จะมีโอกาสเลิกสำเร็จเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งในวันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดคำขวัญว่า “commit to quit” เพื่อกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบบริการเลิกบุหรี่ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ราคาถูกได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของสสส. และภาคีต่างๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงให้ได้อย่างน้อย 25% จากเดิม ซึ่งยาไซทิซีน จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นและปลอดบุหรี่ได้มากขึ้น” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว.