xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เผยเหยื่อโควิด 34 ราย อยู่ในสมุทรปราการมากสุด 13 ราย กทม.-ปริมณฑล ยอดติดเชื้อพุ่งต่อเนื่อง เตือนคนสูบบุหรี่ป่วยอาการทรุดเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1,983 ราย สะสมระลอก เม.ย. 60,044 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 2,006 ราย ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,226 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 401 ราย เสียชีวิต 34 ราย ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นโรคประจำตัว ระบุ ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนไม่สูบ และหากเกิดอาการป่วย อาการจะทรุดอย่างรวดเร็ว ส่วนแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน กทม.

วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 12.32 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,983 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 88,907 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 2,006 ราย สะสม 59,043 ราย กำลังรักษาอยู่ 29,378 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 20,159 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,219 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,226 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 401 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย รวมเสียชีวิต 486 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,983 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,328 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 646 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 9 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 34 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 18 ราย อายุน้อยสุด 33 ปี อายุมากสุด 93 ปี ต่างชาติ 1 ราย อยู่ใน สมุทรปราการ 13 ราย กทม. 10 ราย นครปฐม ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ ชลบุรี นครนายก สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน อย่างโรคปอดเรื้อรัง มีการค้นพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยทำให้รับเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ และอาการจะทรุดอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ จากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว, กลุ่มเพื่อน, อาชีพเสี่ยง

สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศวันนี้ทั้ง 9 ราย คือ มาเลเซีย 3 ราย เยอรมนี 1 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย และมีลักลอบเข้าเส้นทางธรรมชาติจากกัมพูชา 2 ราย ลาว 2 ราย ขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาช่วยให้ไม่ผู้ลักลอบนำเชื้อกลายพันธุ์เข้ามา

ในส่วนของทั้งประเทศตอนนี้ 3 จังหวัดที่เป็นสีแดงมีผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สีเนื้อมีผู้ป่วย 51-100 ราย คือ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สีเหลือง มีผู้ป่วย 11-50 ราย 16 จังหวัด สีเขียว มีผู้ป่วย 1-10 ราย 38 จังหวัด อย่างเช่น จังหวัดนครปฐม ถือว่าดีขึ้นอย่างมาก จากเป็นสีแดง ตอนนี้ก็เป็นสีเขียวแล้ว โดยยึดคืนพื้นที่สีขาวได้ 18 จังหวัด ตัวเลขเป็น 0 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ลำปาง, นครพนม, สุรินทร์, น่าน, สุโขทัย, ยโสธร, พะเยา, สกลนคร, เลย, ชัยนาท, แพร่, อุตรดิตถ์, หนองคาย, สิงห์บุรี, แม่ฮ่องสอน, มุกดาหาร, บึงกาฬ และสตูล

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 12 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 976 ราย 2. นนทบุรี 266 ราย 3. สมุทรปราการ 110 ราย 4. ชลบุรี 57 ราย 5. สุราษฎร์ธานี 53 ราย 6. พระนครศรีอยุธยา 38 ราย 7. สมุทรสาคร 36 ราย 8. จันทบุรี 32 ราย 9. ปทุมธานี 29 ราย 10. ปัตตานี 28 ราย

ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักยังน่าห่วง ผู้ป่วยใช้เครื่องหายใจมีเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตมีทิศทางเพิ่มขึ้นเหมือนกัน ถ้าท่านได้รับดูแลจากทางการแพทย์เร็วที่สุด อาการของท่านจะไม่รุนแรง ขอให้ทุกท่านที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยง อย่าให้รอจนมีอาการ ขอให้ท่านเข้ารับการตรวจเชื้อ เพื่อได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัย


ส่วนสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด จากเส้นกราฟของต่างจังหวัดผู้ป่วยยังคงเดิมและอาจลดลง ไม่พุ่งขึ้น แต่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล กราฟยังมีพุ่งขึ้น การพบผู้ป่วยยังมีเพิ่มขึ้น

จำนวนผู้ป่วยยืนยันกรุงเทพมหานคร โดยพบ 5 เขตอันดับที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด คือ เขตวัฒนา เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เขตดินแดง

ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 60,044 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 50,158 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 9,567 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 319 ราย เสียชีวิตสะสม 392 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 160,322,840 ราย อาการรุนแรง 106,278 ราย รักษาหายแล้ว 138,056,875 ราย เสียชีวิต 3,331,127 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,550,115 ราย
2. อินเดีย จำนวน 23,340,426 ราย
3. บราซิล จำนวน 15,285,048 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,800,170 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,059,433 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 88,907 ราย






























กำลังโหลดความคิดเห็น