ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1,919 ราย อันดับ 99 ของโลก กำลังรักษาอยู่ 29,435 ราย ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,207 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 390 ราย ผู้เสียชีวิตมากสุดใน กทม. 86% มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะความดัน-เบาหวาน แนวโน้มพบผู้ป่วยใน กทม. ปริมณฑลเพิ่มขึ้น ส่วนต่างจังหวัดยังนิ่ง วอนผู้ลักลอบเล่นพนัน งด-เว้น เสี่ยงแพร่เชื้อ วันนี้มี 17 จังหวัดที่ไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยรายใหม่
วันนี้ (11 พ.ค.) เวลา 12.32 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,919 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 86,924 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,829 ราย สะสม 57,037 ราย กำลังรักษาอยู่ 29,435 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 20,005 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,430 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,207 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 390 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย รวมเสียชีวิต 451 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,919 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,310 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 584 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 17 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 31 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 16 ราย อายุน้อยสุด 34 ปี อายุมากสุด 94 ปี ต่างชาติ 2 ราย ยูเครน 1 ราย ฝรั่งเศส 1 ราย อยู่ใน กทม. 17 ราย นนทบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 ราย นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ ลำปาง เชียงใหม่ พิจิตร จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ จากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว, กลุ่มเพื่อน, อยู่ในสถานที่เสี่ยง
แนวโน้มการระบาดยังทรงตัว แต่จำนวนผู้ป่วยยังสูงอยู่ในตอนนี้ มีการปิดสถานบันเทิงไปแล้ว ยอดลงมาแล้ว จึงฝากถึงกลุ่มที่ยังลักลอบ เล่นการพนันต่างๆ ให้งด-เว้น เพราะผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงแพร่เชื้อ
สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยกลับมาจากอินเดีย 11 ราย ทั้งหมดเป็นคนไทยที่ขอเดินทางกลับ โดยทั้งหมดพบเชื้อตั้งแต่วันแรกที่ถึงไทย 5 รายตรวจพบที่ด่านสุวรรณภูมิ, 6 ราย พบใน SQ และในวันนี้ พบผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากกัมพูชา 3 ราย ขอย้ำกับคนไทยที่อยู่ในกัมพูชา และต้องการเดินทางกลับ ขอให้กลับมาอย่างถูกกฎหมาย แม้ว่าการเดินทางออกไป อาจจะไม่ถูกต้อง แต่ขอให้ติดต่อเข้ามาตามระบบ เพราะถ้าป่วยก็จะได้ดูแล รักษาให้ได้ ไม่ต้องกังวล
จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาก 10 อันดับแรก โดย กทม. ยังพบมากสุด ยอดสะสม 10 อันดับ กรุงเทพมหานครสะสมมากสุดเช่นกัน โดยวันนี้มี 17 จังหวัดที่ไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยรายใหม่ ตัวเลขเป็น 0 ได้แก่ ชัยนาท, แพร่, อุตรดิตถ์, หนองคาย, อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำพูน, ศรีสะเกษ, นครพนม, ตราด, สกลนคร, เลย, สตูล และพัทลุง
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 11 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 855 ราย 2. สมุทรปราการ 160 ราย 3. นนทบุรี 141 ราย 4. จันทบุรี 89 ราย 5. ชลบุรี 73 ราย 6. สมุทรปราการ 70 ราย 7. ระนอง 44 ราย 8. สุราษฎร์ธานี 42 ราย 9. นครศีธรรมราช 38 ราย 10. สมุทรสาคร 35 ราย
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศสะสม วันที่ 1 เม.ย.-11 พ.ค. 2564 1. กรุงเทพมหานคร 20,429 ราย 2. เชียงใหม่ 3,904 ราย 3. นนทบุรี 3,769 ราย 4. ชลบุรี 3,432 ราย 5. สมุทรปราการ 3,310 ราย 6. สมุทรสาคร 1,591 ราย 7. ปทุมธานี 1,448 ราย 8. ประจวบคีรีขันธ์ 1,323 ราย 9. สุราษฎร์ธานี 1,203 ราย 10. สงขลา 862 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตในระลอกเดือน เม.ย. ผู้เสียชีวิต 86% มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 65 ปี โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบมีผู้เสียชีวิตสูงสุด แนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ทรงตัว แต่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑลยังคงพบผู้ป่วยในระดับที่สูงอยู่ อัตราการพบผู้ป่วยหนักในพื้นที่กทม. ปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อวานนี้สูงสุดใน กทม. ค้นพบในชุมชนคลองเตย 156 ราย วันนี้จะมีการตรวจเพิ่มขึ้น ในหลายๆ เขตยังคงมีลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกเพิ่ม
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 58,061 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 48,830 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 8,921 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 310 ราย เสียชีวิตสะสม 358 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 159,596,606 ราย อาการรุนแรง 106,439 ราย รักษาหายแล้ว 137,259,864 ราย เสียชีวิต 3,317,492 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,515,308 ราย
2. อินเดีย จำนวน 22,991,927 ราย
3. บราซิล จำนวน 15,214,030 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,780,379 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,044,936 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 86,924 ราย