xs
xsm
sm
md
lg

น่าวิตก! พบเหยื่อโควิด 2 ราย ดับวันเดียวกับที่ทราบผล ติดเชื้อใน กทม.กระจายครบ 50 เขต ตจว.แนวโน้มทรงตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1,630 ราย สะสม 85,005 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,603 ราย ผู้เสียชีวิต 22 ราย อายุน้อยสุด 30 ปี อายุมากสุด 92 ปี พบใน กทม. 13 ราย มี 2 รายที่เสียชีวิตในวันเดียวกับที่ทราบผล ส่วนอีก 7 ราย เสียชีวิตในช่วง 1 สัปดาห์หลังพบเชื้อ แนวโน้ม กทม.และปริมณฑล ยังพบผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนตจว. ทรงตัวและลดลง

วันนี้ (10 พ.ค.) เวลา 12.32 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,630 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 85,005 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,603 ราย สะสม 55,208 ราย กำลังรักษาอยู่ 29,376 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 19,948 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,420 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,151 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 389 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย รวมเสียชีวิต 421 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,630 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,321 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 301 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 8 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 22 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 13 ราย อายุน้อยสุด 30 ปี อายุมากสุด 92 ปี อยู่ใน กทม. 13 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ปทุมธานี สุพรรณบุรี ระยอง สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น มหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 13 รายปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ จากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว มีผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 1 ราย และมี 2 รายที่เสียชีวิตในวันเดียวกับที่ทราบผล ส่วนอีก 7 ราย เสียชีวิตในช่วง 1 สัปดาห์หลังพบเชื้อ ผู้ที่มีประวัติเสี่ยง มีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า แนวโน้มการพบผู้ป่วยในระบบบริการฯ ทรงตัว-ลดลงเล็กน้อย การค้นหาเชิงรุกยังคงพอผู้ป่วยต่อเนื่อง การติดเชื้อจากผู้สัมผัสใกล้ชิดยังสูง ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การพบผู้ติดเชื้อในงานศพ งานบวช การทำงานร่วมกัน การประชุม รับประทานอาหารร่วมกัน บ่อนไก่ สนามชนโค โต๊ะสนุ๊ก รวมถึงอาชีพเสี่ยง เช่น บุคลากร, เจ้าหน้าที่ต่างๆ

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า กทม.และปริมณฑลยังพบผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่องอยู่ใน 5 อันดับ มี 10 จังหวัด วันนี้ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย มีราว 40 จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย ในต่างจังหวัดจะมีการแนวโน้มทรงตัว, ลดลงเล็กน้อย ส่วนกรุงเทพมาหนครและปริมณฑล ยังสูงอยู่ ผู้ป่วยอาการหนัก, อาการรุนแรง ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ กทม. มีพบคลัสเตอร์ใหม่ที่เขตห้วยขวาง จตุจักร วัฒนา วังทองหลาง

กทม.ยังคงมีการตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง และพบผู้ติดเชื้อแล้วทั้ง 50 เขต อัตราการพบเชื้อราว 2.84% เร่งการตรวจค้นหาเชื้อเพิ่มเติมให้ได้มากขึ้น ในจุดต่างๆ ราววันละ 1 หมื่นราย ผู้ที่สงสัย, เข้าข่าย, กังวล สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ กรณีพบกลุ่มเสี่ยง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมได้

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 8 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 565 ราย 2. นนทบุรี 158 ราย 3. สมุทรปราการ 116 ราย 4. สมุทรสาคร 85 ราย 5. ปทุมธานี 65 ราย 6. ชลบุรี 63 ราย 7. ระนอง 45 ราย 8. สุราษฎร์ธานี 41 ราย 9. นครศีธรรมราช 39 ราย 10. จันทบุรี 36 ราย

ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 56,142 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 47,512 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 8,337 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 293 ราย เสียชีวิตสะสม 327 ราย


สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 158,963,126 ราย อาการรุนแรง 107,152 ราย รักษาหายแล้ว 136,486,063 ราย เสียชีวิต 3,306,612 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,476,781 ราย
2. อินเดีย จำนวน 22,662,410 ราย
3. บราซิล จำนวน 15,184,790 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,777,087 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,031,331 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 85,005 ราย








กำลังโหลดความคิดเห็น