xs
xsm
sm
md
lg

“เชาว์” วิพากษ์คดีโตโยต้า ชี้ 3 ปัจจัยเข้าข่ายอนุญาตให้ยื่นฎีกาได้ เชื่อมั่น ระบบตรวจสอบของ กต.วอนสังคมเสพข่าวอย่างมีสติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ วิพากษ์คดีโตโยต้า ชี้ 3 ปัจจัยเข้าข่ายอนุญาตให้ยื่นฎีกาได้ ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ เห็นต่าง คดีมีมูลค่าสูง ไม่เคยมีแนวพิพากษาศาลฎีกามาก่อน เชื่อมั่น ระบบตรวจสอบของ กต. วอนสังคมเสพข่าวอย่างมีสติ

วันนี้ (29 พ.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Chao Meekhuad” เรื่อง ว่าด้วยเรื่อง ติดสินบนคดีโตโยต้า มีเนื้อหาระบุว่า ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับศาลยุติธรรมในทางลบ และถือเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังถูกวิจารณ์กรณีเว็บ Law360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบนของสหรัฐฯ และมีการพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาฎีกา ในกระบวนการยุติธรรมของไทย ข่าวนี้ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงไม่เป็นผลดีต่อศาลยุติธรรมทั้งสิ้น ในฐานะที่เป็นทนายความที่อยู่ในแวดวงยุติธรรม จึงอยากจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้พอสังเขปจะได้เข้าใจในข้อเท็จจริงครบถ้วนมากขึ้น

นายเชาว์ ระบุว่า คดีนี้สืบเนื่องจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้แจ้งประเมินภาษี จำนวน 244 ฉบับ รวมวงเงินทั้งสิ้น 11,639,786,094.84 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)แก่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ภายหลัง ตรวจสอบพบว่าบริษัทฯใช้สิทธิการสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดไม่ถูกต้อง เนื่องจากสินค้าที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ CKD (COMPLETE KHOCK DOWN) และมีปริมาณสอดคล้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วสามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ และเมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่ารหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลูกบาศก์เซนติเมตร ของรถยนต์โตโยต้า รุ่น Prius จึงเห็นควรให้สินค้าตามใบขนสินค้าทั้ง 244 ฉบับ จัดเข้าประเภทพิกัด 8703.23.51 อัตราอากร 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2(ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่สำเร็จ หากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่เข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้ต้องมีการจัดเก็บภาษีอากรที่ขาดไป เป็นจำนวนเงิน 11,639,786,094.84 บาท

ขณะที่ฝ่ายบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โต้แย้งว่า บริษัทได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 93 / 2559 คดีระหว่างบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469

ต่อมาศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ ชนะคดีไม่ต้องรับผิดทางภาษีอากร ต่อมากรมศุลกากร จำเลยในคดีได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (ที่ประชุมใหญ่) มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ถึงที่สุดตามกฎหมาย ต้องห้ามฎีกา เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ จึงยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาโดยศาลภาษีอากรกลางได้การอ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา หลังจากนั้น ศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

จึงเห็นได้ว่า คดีนี้ศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดี เพียงพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ ถ้าเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ซึ่งคดีนี้มีทุนทรัพย์พิพาทรวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยและยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน ซึ่งคดีลักษณะนี้ส่วนใหญ่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้ฎีกา คำสั่งอนุญาตให้ฎีกาจึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่สำคัญ คำสั่งของศาลฎีกาที่อนุญาตให้ฎีกาเป็นเพียงขั้นตอนการพิจารณาว่าปัญหาที่ยื่นฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทให้แพ้ชนะกันในคดี ซึ่งยังต้องเข้าสู่การพิจารณาขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกครั้ง

นายเชาว์ ระบุต่อไปว่า ทั้งหมดคือรายละเอียดข้อเท็จจริงในคดีซึ่งในทางปฏิบัติยังถือว่าไม่มีอะไรผิดปกติ แม้ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ชนะคดีแต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยที่ประชุมใหญ่ก็พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และการรับรองฎีกาก็เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการกล่าวหาว่ามีการให้สินบนกับผู้พิพากษาศาลฎีกาตามข้อมูลของเว็บ LAW 306 ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กัน เชื่อว่า ในอีกไม่นานความจริงคงจะปรากฏ แต่เท่าที่มีประสบการณ์ อยู่ในแวดวงยุติธรรมข่าวการแอบอ้างทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีมูลความจริง เพราะการวิ่งเต้นคดีหรือการจ่ายสินบนให้กับผู้พิพากษา โดยเฉพาะศาลฎีกานั้นเป็นเรื่องที่ยากมากเนื่องจากมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็งตั้งแต่ขั้นตอนการ จ่ายสำนวน การเขียนคำพิพากษาและการตรวจสอบคำพิพากษายิ่งถ้าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทสูง อย่างเช่นคดีนี้ ความเข้มข้นในการตรวจสอบก็ต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ คงจะได้คงจะเห็นได้จากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด เป็นการปิดประตูตายในการวิ่งเต้นคดีและป้องกันข้อครหา

“ส่วนคดีนี้เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คงเป็นที่จับตามองกันมากเป็นพิเศษเพราะมีข่าวอื้อฉาวดักคอไว้แล้ว การตรวจสอบคงต้องเข้มข้นและเชื่อว่าคงหนีไม่พ้นการนำคดีเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดทั้งนี้เพื่อป้องกันข้อครหาที่เกิดขึ้น ส่วนข่าวการติดสินบนผู้พิพากษาหรือการวิ่งเต้นคดีผมเชื่อว่าระบบการตรวจสอบของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต.ที่ขึ้นชื่อในความเด็ดขาด คงไม่ปล่อยให้ข่าวนี้ผ่านไปเพราะที่ผ่านมา ก.ต.ก็ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับกรณีเช่นนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ระดับไหนก็เคยถูก ก.ต.ไล่ออกเป็นข่าวปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อดใจรอและรับฟังข่าวสารด้วยความมีสติครับ” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น