xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ!ชื่อ3บิ๊กศาลไทย โผล่รับสินบนโตโยต้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Law360 เว็บไซต์รายงานข่าวด้านกฎหมายสหรัฐฯ เผยรายงานคดีสินบนภาษี “โตโยต้า” ในไทย พาดพิง 3 ผู้พิพากษาระดับสูงของไทย รับสินบนผ่านสำนักงานกฎหมายเอกชนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล้าน “โฆษกศาล” ระบุหากพบผิดจริงลงโทษเด็ดขาด เผยคดียังไม่จบ

วานนี้ (27 พ.ค.) ตามเวลาในประเทศไทย เว็บไซต์ Law360.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลกรณี บริษัท โตโยตา คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ และมีการพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้พิพากษาฎีกา จำนวน 3 ราย, สำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง และพนักงานบริษัทโตโยต้าอีก 3 ราย เกี่ยวข้องกับเรื่องรับสินบนเพื่อพลิกคำพิพากษาคดีการจ่ายภาษีนำเข้าคิดเป็นมูลค่าเงินจำนวนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.01 หมื่นล้านบาท

เว็บไซต์ Law360.com รายงานตอนหนึ่งว่า ทางบริษัทโตโยต้านั้นสงสัยว่าทนายความระดับอาวุโสของบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย อาจจะมีส่วนกระทำการมอบสินบน โดยทำสัญญาผ่านสำนักกฎหมายของประเทศไทยแห่งหนึ่ง (ระบุชื่อชัดเจน) เพื่อช่วยหาช่องทางไม่ปกติ (backchannel) ให้นำเงินสินบนไปมอบต่อกับผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสูงสุดของไทย (ขณะนั้น) ผ่านอดีตหัวหน้าผู้พิพากษา และที่ปรึกษา (ระบุชื่อชัดเจนทั้ง 3 ราย) โดยพบข้อมูลตามเอกสารด้วยว่า สัญญามีมูลค่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 844 ล้านบาท และได้จ่ายไปแล้ว 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 562 ล้านบาท เหลืออีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 281 ล้านบาท จะจ่ายเมื่อบริษัทชนะการอุทธรณ์อันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส เมื่อช่วงปี 2562

ขณะเดียวกันก็พบว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการทั้งหมดในฝ่ายของบริษัทโตโยต้าประเทศไทยมี 3 ราย (ระบุชื่อชัดเจน) โดยทั้ง 3 ราย ได้ออกจากบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ในช่วงเวลาที่มีการสอบสวนการทุจริตภายในของบริษัทโตโยต้าไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา 3 รายที่ถูกระบุถึงนั้น มี 2 รายเป็นอดีตประธานศาลฎีกา ขณะที่อีกรายเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ อดีตที่ปรึกษาศาลฎีกา และยังเป็นอดีตประธานองค์กรอิสระเกี่ยวกับการตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน และเคยเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษี ด้วย

อีกด้าน นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ได้เคยมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ครั้งแรกช่วงเดือน เม.ย.64 สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา และหากสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเด็ดขาด โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นใครและมีตำแหน่งใด

นายสุริยันต์ เปิดเผยถึงคดีที่ถูกอ้างถึงด้วยว่า เป็นคดีที่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี เป็นจำเลยเนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประกอบเป็นรถยนต์รุ่นพรีอุส โดยมีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ซึ่งโจทก์ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาหลังจากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 ที่ผ่านมา มีผลเพียงศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาเท่านั้น โดยคดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด โดยความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 ก.ค.64 นี้ หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น