ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยคดีแทงนศ.อุเทนถวาย ลูกชายพ่อโดดตึกศาลอาญา ชี้พยานโจทก์ป่วยทางจิต มีอาการหูแว่ว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
เมื่อเวลา 09.00.น. วันนี้ (27 พ.ค.) ห้องพิจารณา 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีฆ่าผู้อื่นหมายเลขดำอ. 1809/2660 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 และนางเรวดี ทัฬหสุนทร มารดา ร่วมกัน เป็นโจทก์ฟ้องนายณัฐพงษ์ หรือโจ้ เงินคีรี เป็นจำเลยในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ
กรณีเมื่อวันที่ 15 เม.ย.2559 นายณัฐพงษ์ จำเลยได้ใช้อาวุธมีดแทงนายธนิต ทัฬหสุนทร อายุ 23 ปี อดีตน.ศ.อุเทนถวาย ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ย่านดินแดง กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ พิพากษายกฟ้อง โดยในวันที่ศาลมีคำพิพากษานายศุภชัย ทัฬหสุนทร บิดานายธนิต ซึ่งเดินทางมาที่ศาลพร้อมภรรยา ได้กระโดดลงมาจากชั้น 8 ศาลอาญาเสียชีวิตซึ่งคาดว่าจากสาเหตุที่คดีมีคำพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาอัยการโจทก์ นางเรวดี มารดาผู้ตายโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมตามคำร้องของโจทก์ คือ นำนายพีรวิชญ์ ปุตตะจินารักษ์ หรือตง พยานคนสำคัญในคดีแทงน้องเต้เสียชีวิต ที่อ้างว่าก่อนนี้ในศาลชั้นต้นไม่สามารถมาเบิกความได้เรื่องจากป่วยทางจิต
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมในประการแรกว่า จำเลยร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะผู้ตายถูกทำร้ายก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์และโจทก์ร่วมของศาลชั้นต้น นายพีรวิชญ์ที่อ้างว่าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่จำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายนั้นในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น นายพีรวิชญ์ไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานได้เนื่องจากมีอาการป่วยทางจิต ต้องเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้สืบพยานนายพีรวิชญ์เป็นพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์
นายพีรวิชญ์ก็เบิกความ แต่เพียงว่าพยานจำเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุไม่ได้แน่นอน และยังเบิกความด้วยว่าในวันเกิดเหตุพยานกำลังรักษาอาการทางจิตอยู่ซึ่งในข้อนี้แพทย์ผู้ตรวจรักษานายพีรวิชญ์เบิกความว่านายพีรวิชญ่ป่วยเป็นโรคจิตเภท รวมกับมีอารมณ์ผิดปกติ อาการของโรคดังกล่าวมีตั้งแต่หูแว่ว หลงตนเอง ก้าวร้าว คิดหลงผิด เบื่อหน่าย ท้อแท้ มีอาการซึมเศร้า หรือครึกครื้นผิดปกติ ซึ่งในช่วงแรกนายพีรวิชญ์มีอาการมาก คือหูแว่ว หวาดระแวง กลัวคนมาทำร้ายและมีอาการจะทำร้ายตัวเองมาก และอาการป่วยดังกล่าวไม่สามารถใช้วิธีสังเกตอาการโดยการมองจากภายนอกได้ต้องใช้วิธีสัมภาษณ์ซักถาม เรื่องการรับรู้ ซึ่งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุพยานมีเสียงสั่งในหู (อาการหูแว่ว) จึงทำให้มีข้อสงสัยได้ว่าในขณะที่เกิดเหตุนั้น นายพีรวิชญ์มีการอาการป่วยทางจิตเวชอยู่
ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่อ้างว่าจำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายคงมีเพียงคำให้การในชั้นสอบสวนของนายพีรวิชญ์ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน ทั้งยังเป็นคำให้การในช่วงระหว่างเวลาที่นายพีรวิชญ์มีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท
นอกจากนี้คำให้การของนายพีรวิชญ์ยังไม่สอดคล้องกับลำดับเหตุการณ์ตามภาพวงจรปิด ซึ่งนายพีรวิชญ์ยอมรับว่าจำเหตุการณ์ไม่ได้แน่ชัด อ้างเพียงเห็นจำเลยดึงอาวุธมีดออกมา แต่ไม่ทราบว่าแทงไปบริเวณใด ขัดแย้งกับพยานอีกหลายปากที่ให้การว่าไม่เห็นจำเลยชัดมีดออกมาแทงผู้ตาย และนายพีรวิชญ์ได้ลงชื่อในบันทึกการชี้ตัวเมื่อ 17 ส.ค.2559 ในช่องพยานว่า“นายทรงฤทธิ์” ซึ่งเป็นชื่อเดิม ในข้อนี้แพทย์ผู้ตรวจรักษานายพีรวิชญ์ สรุปได้ว่า เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีอาการกำเริบ และที่นายพีรวิชญ์ ให้การในชั้นสอบสวนของว่าจำเลยเอาอาวุธเวชยาวประมาณ 1 ฟุตมาแทงผู้ตาย ตลอดจนการจัดให้มีการชี้ตัวจำเลยของนายพีรวิชญ์นั้นก็ไม่อาจรับฟังได้
ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิดนั้นบันทึกเหตุการณ์ขณะมีการทำร้ายกันอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมาก จนไม่สามารถสังเกตได้ว่าการต่อสู้ทำร้ายกันอย่างไร จึงไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธมีดยาวประมาณ 1 ฟุตแทงผู้ตาย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยกระโดดถีบผู้ตาย 1 ครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำดังกล่าวของจำเลยในความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น เห็นว่าคดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ยึดอาวุธมีดที่อ้างว่าจำเลยใช้แทงผู้ตายมาเป็นของกลาง อีกทั้งพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยพาอาวุธมีดติดตัวไปในวันเกิดเหตุจริง จึงไม่อาจลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
อนึ่งโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยคำร้องของโจทก์ร่วมดังกล่าวส่วนการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแล้วเพื่อไม่ให้คดีชักช้า ศาลอุทธรณ์จึงเห็นควรหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาเมื่อฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ให้ยกคำร้อง