xs
xsm
sm
md
lg

“ดีมานด์รถทั่วโลกฟื้นชัดเจน หนุนหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์คึก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ปีนี้ฟื้นชัดเจน คาดกำไรโต 125% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากความต้องการรถยนต์ทั่วโลกพุ่ง ส่วนแนวโน้มทั้งปีคาดยอดผลิตเติบโต 19% ต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ประเมินกำไร Q2 ชะลอตัวตามฤดูกาลและเร่งช่วงครึ่งปีหลังตามยอดผลิตรถยนต์ในหลายประเทศคึก คาดต่อเนื่องถึงปี 65 แนะนำซื้อ AH-SAT-STANLY

จากตัวเลขยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนมีนาคม 2564 คือ 104,506 คัน เพิ่มขึ้น 16.38% จากเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 31.50% สูงสุดในรอบ 24 เดือน เพราะมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้าในเดือนมีนาคมเติบโตจากมีนาคมปี 2563 ซึ่งปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในยุโรปต่ำที่สุดในรอบ 30 กว่าปี ทำให้ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปในตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนียเพิ่มขึ้น 48.16% ส่วนตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น 46.40% และตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 53.93% รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ก็เพิ่มขึ้นตามการเปิดสายการผลิตของประเทศคู่ค้าด้วย

สรุปตัวเลขการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไตรมาสแรกปีนี้ 258,108 คัน โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 3.13% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 มูลค่าการส่งออก 143,081.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.05% ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์เดือนมีนาคม 2564 มีทั้งสิ้น 162,515 คัน เพิ่มขึ้น 10.70% จากเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 4.71% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยยอดการผลิตเพิ่มขึ้นจากการผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกที่เพิ่มขึ้น 23.71% จากมีนาคม 2563 การผลิตรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 14.78% รถพีพีวี เพิ่มขึ้น 130.17% และรถบรรทุกเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 37.06% นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หุ้นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์สดใสขึ้นมา

กลุ่มชิ้นยานยนต์เหมาะลงทุน

บทวิจัย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์รายงานกำไรไตรมาส 1/64 เติบโตโดดเด่น 33% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาดจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมผลิตรถ โดยมองแนวโน้มไตรมาส 2/64 คาดยังเติบโตจากฐานที่ต่ำปีก่อนที่มีการหยุดการผลิตไป 1 เดือน 

ขณะที่ด้านปัญหาขาดแคลนชิปและ Supply chain ในอุตสาหกรรมกระทบระยะสั้น อีกทั้งค่ายรถในประเทศไทยแทนที่จะลดเป้าแต่กลับเพิ่มเป้าหมาย จึงคาดปี 64 -65 เข้าช่วง turnaround กำไรเติบโตเด่น 125% และ 24% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ

ดังนั้น จึงให้น้ำหนักการลงทุน “มากกว่าตลาด” ซึ่งมองว่าผลประกอบการหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คาดว่ากำไรจะกลับมาเติบโตโดดเด่นในปี 64-65 จากฐานที่ต่ำ ยอดผลิตรถปีนี้ฟื้นตัวก้าวกระโดด มองว่าหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์มีความน่าสนใจ เลือก AH เป็นหุ้น Top pick ในกลุ่มเนื่องจากคาดกำไรจะฟื้นตัวโดดเด่นในปี 64 ขณะที่ Valuation ถูกสุดในกลุ่ม

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เผยว่า ช่วงที่ตลาดยังไปไกลมากไม่ได้เพราะมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ถ่วงอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่ซื้อและหุ้นขนาดใหญ่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ส่งผลให้หุ้นขนาดกลางและหุ้นขนาดเล็กเป็นที่ต้องตาของบรรดานักลงทุนที่ชอบเล่นเก็งกำไร

อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนที่จะเข้ามาเล่นเก็งกำไรควรจะมองหุ้นที่มีผลประกอบการดีต่อเนื่อง ในที่นี้จะนำหุ้นที่น่าลงทุน 5 ตัว เป็นหุ้นที่ Link กับโลจิสติกส์ ที่น่าจะไปได้ต่อ และยังให้ผลดำเนินงานทำนิวไฮต่อได้ ซึ่งมองที่หุ้น บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) ให้ราคาเป้าหมายที่ 7.60 บาท/หุ้น มองดูแล้วน่าจะทำผลงาน All time high ได้ในไตรมาส 2/64

กลุ่มยานยนต์ (Auto) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีความน่าสนใจลงทุนจากภาคส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ดี โดยตัวเลขการส่งออกขยับขึ้นได้เรื่อยๆ และไม่ Link กับปัจจัยในประเทศ รวมถึงตอนนี้เศรษฐกิจทั้งของจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ต่างฟื้นตัวถ้วนหน้า ขณะที่ปัจจุบันกลุ่ม Auto เทรด P/E ที่ 10 เท่าเท่านั้น ทำให้มองว่ายังไปต่อได้ แนะนำ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แนะหุ้น บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE)

ด้านกลุ่มลีสซิ่ง แนะนำหุ้น บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) จากทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยผลดำเนินงานในไตรมาส 1/64 ทำ All time high และคาดว่าไตรมาส 2-4 ก็จะเร่งทำผลงานเติบโตไปได้อีกจากพอร์ตสินเชื่อของ ASK ที่เร่งโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมให้ราคาเป้าหมาย 45 บาท/หุ้น

นอกจากนี้ หุ้น บมจ.เจ มาร์ท (JMART) ก็เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจลงทุน จากคาดการณ์กำไรจะเติบโตแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง (H2/64) รับผลจาก SINGER ที่เติบโตได้ต่อ และ JMT ที่มองว่าครึ่งปีหลัง (H2/64) จะดีกว่าครึ่งปีแรก

นายวิจิตร กล่าวต่อว่า ฝ่ายวิจัยได้มองเป้าดัชนี SET ในปี 64 ไว้ที่ 1,600 จุด คิด P/E 19 เท่า โดยมอง EPS ที่ 84 บาท ซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจระดับ Global ถือว่าดี แต่ในประเทศยังต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนในประเทศจะทำได้มากแค่ไหน แม้ว่าผลกำไรงวดไตรมาส 1/64 จะออกมาดีกว่าคาดถึง 80% แต่ในไตรมาส 2/64 อาจจะชะลอได้จากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ต้องมีการใช้มาตรการคุมเข้ม

นอกจากนี้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเมินกลุ่มยานยนต์ โดยคงน้ำหนักลงทุนเท่าตลาด (NEUTRAL) เนื่องจากมองว่าผลประกอบการช่วงไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมาหุ้น AH, SAT, STANLY เติบโตโดดเด่นอย่างมาก สามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ หรือขึ้นมาบริเวณจุดสูงสุดในอดีต จากอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวและการปรับปรุงประสิทธิภาพลดต้นทุน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ไตรมาส 2/64 ปกติจะเป็นช่วงโลว์ซีซัน เพราะมีวันหยุดหลายวัน คาดผลประกอบการจะชะลอตัว ส่วนแนวโน้มปี 64 จะมียอดผลิตรถยนต์ 1.7 ล้านคัน เติบโต 19% แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติก่อน Covid-19 ประมาณ 2 ล้านคัน ด้านตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้คาดจะมียอดขายรวม 880,000 คัน เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

หุ้นที่แนะนำซื้อในกลุ่ม คือ STANLY ราคาเป้าหมาย 212 บาท SAT ราคาเป้าหมาย 24 บาท และ AH ราคาเป้าหมาย 28 บาท แต่รอจังหวะช่วงอ่อนตัวหลังราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาแรง

โดยประเมินราคาเป้าหมาย หุ้น STANLY บนฐานค่าเฉลี่ย Forward P/E 10 ปีประมาณ 10.5 เท่าจะได้ 212 บาท คงแนะนำ "ซื้อ" หลัง STANLY ประกาศผลงานไตรมาส 4 Q63/64 (งวด ม.ค.-มี.ค.2564) มีกำไรที่ฟื้นตัวเด่น 561 ล้านบาท กลับมาใกล้ระดับสูงสุดในอดีตมากกว่าที่คาดหมายไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เท่ากับ 455 ล้านบาท แรงหนุนยอดขายฟื้นตัวดีขึ้นต่อ 3,831 ล้านบาท ซึ่ง STANLY ได้รับคำสั่งซื้อไฟหน้าท้าย รถ Model ใหม่ต่อเนื่อง และอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นต่อ 23.8% จากไตรมาสก่อน 17.5% และปีก่อน 22.2% รวมปี 2563/64 (งวด เม.ย. 2563-มี.ค.2564) ยอดขาย11,728 ล้านบาท ลดลง 23% และมีกำไรสุทธิ 1,061 ล้านบาท ลดลง 47% เพราะช่วง เม.ย.-พ.ค.2563 ค่ายรถยนต์ได้หยุดผลิตเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก

แนวโน้มผลประกอบการปี 64 STANLY ยังได้รับคำสั่งซื้อใหม่ ไฟหน้า-ท้ายต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Global Model คาดยอดขาย STANLY ปี 2564/65 (เม.ย.64-มี.ค.2565) จะฟื้นตัวตามทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ 13,700 ล้านบาท โต 18% และมีกำไรสุทธิ 1,548 ล้านบาท โต 62% โดยผลประกอบการของ STANLY ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่มียอดขาย 15,150 ล้านบาท และมีกำไรเกือบ 2 พันล้านบาท ซึ่งประมาณการค่อนข้างอนุรักษนิยม หากนำกำไรไตรมาส 4 มาคูณด้วย 4 จะมีกำไรที่สูงถึง 2.2 พันล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งประมาณการนี้ได้คำนึงถึงปัญหาชิปขาดแคลน

KTBST แนะ SAT ให้น้ำหนัก “Neutral”

บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า เดือน เม.ย. ภาพรวมค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่หยุดการผลิตตามปัจจัยฤดูกาลที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก ประกอบกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนงดการเดินทาง และมีความไม่มั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ทำให้ชะลอการซื้อรถยนต์ออกไป แต่มองว่าภาพรวมการผลิตรถยนต์เดือน เม.ย.21 ที่ลดลงจะเป็นจุดตํ่าสุดของปีนี้ โดยโบรกฯ ประเมินยอดผลิตรถยนต์ทั้งปี 64 ที่ 1.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 12% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์เดือน พ.ค.-มิ.ย.64 จะทยอยฟื้นตัวขึ้น โดยยังมีผลกระทบจากบางค่ายรถยนต์ที่ลดกำลังการผลิตจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3/64 ถึงไตรมาส 4/64 จากการกลับมาเร่งผลิตเพื่อชดเชยช่วงไตรมาส 2/64 ที่ชะลอตัว โดยยังมีปัจจัยหนุนจากความต้องการรถยนต์ทั่วโลกที่ฟื้นตัว ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ยังคงเติบโตได้โดดเด่น ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ หนุนให้กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

โดยให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มยานยนต์เป็น “Neutral” โดยมองหุ้น top pick อย่าง SAT แนะซื้อเป้า 26.00 บาท อิง 2021E PER ที่ 11 เท่า (5-yr average PER) จากกำไรปี 64 ที่เติบโตโดดเด่นเพิ่มขึ้น 169% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แนวโน้มผลการดำเนินงานจะเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจาก SAT มีการรับรู้รายได้จากคำสั่งซื้อใหม่เพิ่ม และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่ของ SAT จะผลิตให้รถกระบะ ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งธุรกิจชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรยังกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่ง นอกจากนั้น ด้าน valuation ยังน่าสนใจเทรดปี 64 PER ต่ำเพียง 8.9 เท่า คิดเป็น -0.75SD below 5-yr average PER

ประสานเสียงเชียร์ AH เด่นสุด

บล.คิงส์ฟอร์ด แนะนำ "ซื้อ" AH ให้ราคาเป้าหมาย 28.70 บาท/หุ้น เพราะทิศทางผลประกอบการปี 2564-65 เติบโตสดใส หลังไตรมาสแรกปีนี้แจ้งงบมีกำไรสุทธิ 411 ล้านบาท เติบโต 162% จากไตรมาสก่อนและ 28% จากปีก่อนดีกว่าคาด แถมมีกำไรค่าเงิน 102 ล้านบาท เพราะบาทอ่อนค่า ส่วนรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 14% อยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนที่ 4.2 พันล้านบาท ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่วนรายได้ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 27% อยู่ที่ 1.4 พันล้าน จากการเปิดศูนย์บริการรถยนต์โปรตอน 2 แห่งในมาเลเซีย คาดแนวโน้มไตรมาส 2 อ่อนตัวลงตามปัจจัยฤดูกาลที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก แต่จะพลิกเป็นกำไรเทียบปีก่อน เนื่องจากปีก่อนผู้ผลิตรถยนต์หลายรายหยุดสายการผลิตชั่วคราวจากปัญหา Supply Chainส่วนแนวโน้มผลประกอบการใน 2H64 คาดดีขึ้นจากปีก่อนแต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 และปัญหาขาดแคลนชิป อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารคาดว่าลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างจำกัด

ทั้งนี้ ในปี 64 ส.อ.ท.คาดการณ์ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในปี 64 อยู่ที่ 1.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.9% แต่คาดว่ายอดขายของ AH จะเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่ 26% จากปีก่อน อยู่ที่ 2.16 หมื่นล้านบาท มาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ปรับประมาณการกำไรปกติปี 64-65 เพิ่มขึ้นจากเดิมและประเมินราคาเหมาะสมปี 64 อยู่ที่ 28.70 บาท (เดิม 22.40 บาท) (บนฐาน Fully DilutedNorm EPS จากการจ่าย Stock Dividendที่ 2.87 บาท/หุ้น) อิง P/E Multiple ที่ 10.0 เท่า(5-yr avg.) แนะนำ “ซื้อ” โดย AH มีจุดเด่นจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลกและยังมีธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ช่วยเสริม รับประโยชน์ในช่วงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกฟื้นตัว มีโอกาสใหม่จากค่ายรถยนต์จีนจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ขับขวาเพื่อส่งออก ส่งผลให้แนวโน้มกำไรปี 64-65 เติบโตโดดเด่น ขณะที่ ValuationForward Norm PER’64 ที่ 8.6 เท่า และคาด Dividend Yield อีกราว 4.5% อยู่ในระดับที่น่าสนใจในการลงทุน

บล.ทรีนิตี้ มอง AH คงคำแนะนำ “ซื้อ” Fair Value 28.70 บาทต่อหุ้น อ้างอิงวิธี Forward P/E Ratio +1SD ที่ 10 เท่า ณ ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ Forward P/E 8.6 เท่า P/BV ราว 1 เท่า ณ ราคาปัจจุบันยังมี upside ราว 16.7% โดยราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาแล้วราว 30% หลังจาก AH แจ้งงบไตรมาสแรกปีนี้กำไร 411 ล้านบาท ซึ่งเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งเทียบไตรมาสและปี โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 5,586 ล้านบาท ผลจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เติบโต จากลูกค้ารายเดิมที่มีคำสั่งการผลิตตามความต้องการรถยนต์ในตลาดที่เพิ่มขึ้นและมีลูกค้าไหลมาจากบริษัทคู่แข่งที่ปิดตัวลงจากผลกระทบโควิด-19 โดยการเติบโตของบริษัทเป็นการเติบโตสูงกว่าตัวเลขอุตสาหกรรมในเชิงปริมาณการผลิตในประเทศ (คัน) ที่เติบโตเพียง 2.7 % อีกทั้งธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เติบโต +27.8% ทั้งในไทยและมาเลเซีย รวมถึงกำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากการคุมต้นทุน ตลอดจนกำไรค่าเงินเพราะบาทอ่อนค่า

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) มอง AH ว่า กำไรปกติของไตรมาส 1/2564 คิดเป็นสัดส่วน 44% ของประมาณการกำไรเดิม แม้คาดกำไรปกติไตรมาส 2/2564 ชะลอตัวลงตามฤดูกาล ก่อนจะเร่งตัวในครึ่งปีหลัง 2564 และดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนด้วย ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของยอดผลิตรถยนต์ทั้งในไทย โปรตุเกส และจีน ยังได้รับแรงส่งจากการพลิกกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เพื่อสะท้อนภาพดังกล่าว

ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติ ปี 2564-2565 เฉลี่ย 34% และปรับยอดขายเพิ่ม 8.5% ทำให้คาดว่ายอดขายปี 2564 เท่ากับ 1.97 หมื่นล้านบาท และปี 2565 เท่ากับ 2.17 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรปกติปี 2564 อยู่ที่ 960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน และเติบโตต่อ 14% เป็น 1 พันล้านบาท ในปี 2565 ทำให้ปรับราคาเป้าหมายใหม่ที่ 30 บาท จากเดิม 20 บาท มองว่าแนวโน้มกำไรจะเติบโตเด่นสุดในกลุ่ม จึงปรับคำแนะนำเป็นซื้อ จากเดิม Switch

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวออกมาว่ารัฐจะออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อกลุ่มยานยนต์ เนื่องจากจะหนุนให้ยอดการผลิตรถยนต์ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด จากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าปีนี้จะมียอดผลิตรวมเพียง 1.2-1.3 ล้านคัน ซึ่งลดลงเกือบครึ่งจากปีก่อนที่ทำได้อยู่ระดับ 2 ล้านคัน


กำลังโหลดความคิดเห็น