xs
xsm
sm
md
lg

IRPC มั่นใจไตรมาส 2 โตขึ้น เร่งต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดอีวี-วัสดุทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



IRPC คาดผลดำเนินงานไตรมาส 2 นี้ดีกว่าไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบทั้งกลุ่มปิโตรเลียมและปิโตรเคมีดีขึ้น แต่กำไรจากสต๊อกน้ำมันอาจต่ำลงจากไตรมาส 1/64 พร้อมเร่งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษไปใช้ทำวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และยานยนต์ไฟฟ้า

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะเติบโตกว่าไตรมาส 1/2564 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (Spread) ในกลุ่มปิโตรเคมีและปิโตรเลียมปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่กำไรจากสต๊อกน้ำมัน (Stock Gain) อาจจะปรับลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันไม่ได้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเหมือนไตรมาสก่อน

โดยทิศทางความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีแรกยังจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนและภูมิภาคอาเซียน แต่ช่วงครึ่งปีหลังอาจมีความท้าทายจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่เข้ามาทั้งจากมาเลเซียและจีน ส่วนปัญหาของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะสามารถคลี่คลายลง โดยมีการเคลื่อนย้ายตู้เปล่ากลับมาในภูมิภาคที่ใช้ในการผลิต หรือฐานการผลิตมากขึ้น เพื่อนำไปใช้งานต่อได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจมีค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น

ส่วนทิศทางตลาดปิโตรเลียมในปีนี้ จากช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่าภาพรวมราคาน้ำมันดีกว่าแผนธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ เชื่อว่าการรับมือโควิด-19 และการเร่งฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายลง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานฟื้นตัวดีขึ้น และน่าจะดีขึ้นกว่าแผนธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโอเปกพลัส ซึ่งสองปัจจัยดังกล่าวคาดจะทำให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ และไม่น่าจะมีความผันผวนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็จะค่อยๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และดีเซล

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ IRPC ในปีนี้ นายชวลิตกล่าวว่า ยังคงมุ่งเน้นการสร้าง และพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคตเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบในอนาคต ด้วยการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ IRPC เติบโตอย่างยั่งยืน


IRPC วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty) สูงถึง 30% ภายในปี 2567 ด้วยกลยุทธ์ใกล้ชิดเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น (Human centric) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ

ที่ผ่านมา IRPC ได้ร่วมทุนกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทย่อยที่ บมจ.ปตท. ถือหุ้น 100% จัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่ Smart Material ที่ตอบสนองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub

พร้อมกันนี้ยังมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนชนิดพิเศษ (PP melt blown grade) ที่ IRPC ได้วิจัยและพัฒนาเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 4/2564
บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสร้างผลิตภัณท์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น เช่น ถุงอาหาร ถุงเลือด และถุงล้างไตสำหรับผู้ป่วย ที่ผลิตจากเม็ด PP และผลิตภัณท์ NBL หรือ Nitrile Butadiene Latex ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตถุงมือแพทย์ ร่วมกับองค์กร ทั้งเอกชน และภาครัฐ สอดรับกับเศรษฐกิจเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว


นอกจากนี้ IRPC ก็อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-Ion Electrode อีกทั้งบริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (JPP) ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวนด์ (Polypropylene Compound : PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการผลิต และอยู่ในระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เป็นปัจจัยบวกสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เพราะมีทิศทางความต้องการใช้พลาสติก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตของรถยนต์ EV ในสัดส่วนต่อคันที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%


กำลังโหลดความคิดเห็น