xs
xsm
sm
md
lg

SCC ขอเวลา 2 ปีปรับโครงสร้างธุรกิจ ปูทาง “เอสซีจี เคมิคอลส์” เข้าตลาดหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตัดสินใจนำธุรกิจ “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นับว่ามาได้ถูกที่ถูกเวลา ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างท่วมท้น โดยที่เอสซีจี แพคเกจจิ้งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ดังนั้น SCC มองเห็นโอกาสในการนำธุรกิจหลักตัวแม่ในการสร้างรายได้และกำไรให้เครือซิเมนต์ไทย คือธุรกิจเคมิคอลส์ แม้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทำรายได้และกำไรของกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์จะไม่โดดเด่นมากนัก สืบเนื่องอยู่ในช่วงราคาปิโตรเคมีวัฏจักรขาลง

แต่นับจากนี้ไปอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะกลับมาฉายแววโดดเด่นอีกครั้ง หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้น ทั้งใช้ในการทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน PPE รวมทั้งธุรกิจดีลิเวอรีที่เติบโตก้าวกระโดด จึงเป็นจังหวะที่ SCC จะเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมก่อนนำเข้าตลาดหุ้นเป็นบริษัทถัดไป


รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) กล่าวว่า SCC อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงการเสนอขายหุ้นเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCG Chemicals) ต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมดเพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในภูมิภาคอาเซียนและการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต คาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

ปัจจุบันเอสซีจี เคมิคอลส์มีความคืบหน้าการลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ ดังนี้ คือ โครงการขยายกำลังการผลิตของบริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด (MOC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอสซีจี เคมิคอลส์กับบริษัทในกลุ่มดาว เคมิคอล สหรัฐอเมริกา โดย SCC มีสัดส่วนในการถือหุ้นทางอ้อมใน MOC สัดส่วน 67% และกลุ่มดาวถือหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด 33% ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ทดลองดำเนินการผลิตแล้ว และจะสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ทำให้มีกำลังผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี

โครงการขยายกำลังการผลิตมาบตาพุด โอเลฟินส์ ใช้เงินลงทุนรวม 15,500 ล้านบาท มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำ โดยมีความยืดหยุ่นการเลือกใช้วัตถุดิบ และยังทำให้ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดเมื่อปลายเมษายน 2564 ทางเอสซีจี เคมิคอลส์ ยังได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นผ่าน SCG Chemicals Trading (Singapore) Pte,Ltd. เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 70% ใน Sirplaste-Sociedade Industrial de Recuperados de Plastico, SA. (ซีพลาสต์)โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังถืออยู่ 30% คาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้

การตัดสินใจลงทุนในบริษัทซีพลาสต์นั้นสอดรับนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากซีพลาสต์ดำเนินธุรกิจด้านพลาสติกรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกส ด้วยกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี มีการผลิตและขายสินค้าให้กับลูกค้าทั้งในประเทศโปรตุเกสและทวีปยุโรป เท่ากับเป็นการขยายช่องทางการในตลาดยุโรปด้วย


ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ SCC กล่าวว่า ในปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์ยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ทางธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy for Plastics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่เจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้บริโภคให้ความสำคัญใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีกฎระเบียบและเป้าหมายของประเทศต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ส่งผลดีบางตลาด เช่นบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่ง พลาสติกสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในการเป็น “ปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” โดยมีโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมตลอดทั้ง Supply Chain ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชัน เพื่อให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ 100%, การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) โดยบริษัทได้วิจัยพัฒนาสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล PCR ชนิด HDPE ภายใต้แบรนด์ SCG Green PolymerTM สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน ซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทมีแผนจะเพิ่มการขายผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ Green Polymer 2 แสนตันภายในปี 2568


นอกจากนี้บริษัทมีแผนนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) โดยล่าสุดได้ก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในไทย มีกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตร

พร้อมพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA เน้นใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ ยานยนต์ และการก่อสร้าง โดยวางเป้าหมายการขายสินค้า HVA ในสัดส่วน 50% ภายในปี 2573

ธนวงษ์กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น บริษัทแสวงหาโอกาสในการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาก็มีหลายโครงการ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง บริษัทก็จะเร่งรัดขับเคลื่อนให้เรื่องนี้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว


สำหรับแนวโน้มธุรกิจเคมิคอลส์ในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเติบโตขึ้นหลังจากหลายประเทศเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มการเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก

ธนวงษ์เผยความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม มูลค่าการลงทุน 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐว่าโครงการได้เดินหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 72% คาดว่าในปี 2566 จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นบิ๊กโปรเจกต์ของ SCC ในปีนี้จะใช้เงินลงทุนอีก 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีก่อนใช้ไปแล้ว 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับโครงการ LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม ตั้งอยู่ที่เมือง Ba Ria-Vung Tau ห่างจากนครโฮจิมินห์ประมาณ 100 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.6 ล้านตันต่อปี สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกชนิด HDPE LLDPE และ PP

หากย้อนเวลาไป โครงการนี้ LSP ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ หากไม่ใช่ SCC เป็นเจ้าของโปรเจกต์เชื่อว่าคงไปไม่รอดนับตั้งแต่ QPI Vietnam (QPIV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกาตาร์ ปิโตรเลียมฯ ถือหุ้น 25% ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนโครงการนี้ประกาศถอนตัวจากการลงทุนเมื่อปลายปี 2558 ทำให้ SCC ต้องวิ่งวุ่นหาพันธมิตรใหม่เสียบแทน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่ได้ด้วยเงื่อนไขเวลาจำกัด ทำให้ SCC ตัดสินใจลงทุนเอง โดยให้บริษัท วีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (VSCG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในธุรกิจเคมิคอลส์ที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมด 100% ทำลงนามในสัญญากับ Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) เพื่อซื้อหุ้นสัดส่วน 29% ใน LSP ที่ราคาประมาณ 2,900 ล้านบาท หรือประมาณ 2,052 พันล้านเวียดนามด่องในเดือน พ.ค. 2561

ทำให้ SCC ถือหุ้นโดยอ้อมใน LSP เพิ่มขึ้นจาก 71% เป็น 100% ซึ่งหุ้นจำนวน 100% นี้จะถือโดยบริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด 82% และ บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) ยังคงถือในสัดส่วน 18% เท่าเดิม ทันทีที่ SCC ประกาศลงทุนโครงการ LSP ทั้ง 100% ทำให้นักลงทุนกังวลความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแหล่งเงินกู้ยืมโครงการ

แต่ SCC ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แค่ช่วงเวลา 2-3 เดือนหลังจากประกาศถือหุ้นโครงการ 100% ในต้นเดือนสิงหาคม 2561 SCC ทำสัญญาเงินกู้สกุลเงินดอลาร์สหรัฐกับ 6 สถาบันการเงินทั้งไทยและเทศ วงเงินกู้กว่า 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.1 แสนล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ 14 ปี


เมื่อโครงการ LSP แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโครงการนี้เพิ่มการผลิตปิโตรเคมีอีก 55% จากปัจจุบันเป็น 2.95 ล้านตันต่อปี ทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์ SCC มีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์ทำรายได้จากการขาย 51,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากไตรมาสก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 8,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 397% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ดังนั้นเมื่อเอสซีจี เคมิคอลส์ เข้าตลาดหุ้นจะสร้างสีสันให้ตลาดหุ้นไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น