OSP คงเป้าหมายกำไรปี 64 โตเป็นเลข 2 หลัก (Double Digit) หลังยอดขายต่างประเทศยังโต ลุ้นรายได้ Q2/64 โตกว่า Q2/63 เหตุเดือน เม.ย.เครื่องดื่มชูกำลังขายดี ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย.อากาศร้อนมาก ช่วยหนุนธุรกิจเครื่องดื่ม ลั่นเดินหน้าธุรกิจกัญชง-กัญชา ขณะที่ TKN หั่นเป้ายอดขายปีนี้ลงเหลือเพียง 4.1-4.3 พันล้านบาท จากเดิมคาดที่ 5 พันล้านบาท หลังยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังพร้อมออกเครื่องดื่มชานมเพิ่มช่วงที่เหลือปีนี้ หวังสร้างยอดขายเพิ่ม 300-400 ล้านบาท
นางพรธิดา บุญสา Chief Financial Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ บริษัทคงเป้ากำไรปีโตเป็นตัวเลขสองหลัก(Double Digit) เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่ง ทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและของใช้สำหรับบุคคล
"ยอดขายต่างประเทศเรายังโต อย่างในพม่า ถึงแม้จะมีสถานการณ์รัฐประหารในไตรมาส 1/64 แต่ยอดขายยังเติบโตได้ เนื่องจากเราเตรียมตัวดี และก็มีการตัดสินใจประเมินสถานการณ์ทุกๆ วัน" นางพรธิดา กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/64 คาดรายได้จะโตกว่า Q2/63 หลังเดือน เม.ย.เครื่องดื่มชูกำลังมียอดขายดีมาก และเดือน พ.ค.-มิ.ย.อากาศยังร้อน ทำให้เครื่องดื่มยังขายดี แต่ต้องรอดูว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าครึ่งปีหลังเมื่อมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทุกอย่างจะกลับมาปกติ สภาพเศรษฐกิจน่าจะไปได้สวยขึ้น แต่ปัจจัยตอนนี้คือมีโควิด-19 ทำให้ประเมินยาก
ส่วนกรณีที่ประเทศพม่า ประกาศแบนสินค้านำเข้าจากไทย ไม่ได้กระทบยอดขายของบริษัท เนื่องจากในพม่า บริษัทมี 2 แบรนด์ คือ เครื่องดื่มชูกำลัง M-150, Shark ซึ่ง Shark ผลิตในพม่าไม่กระทบ ส่วน M-150 ผลิตในไทยมีการขนส่งสินค้าไปทางเรือ กระทบเล็กน้อยแต่ไม่มีอะไรเป็นสาระสำคัญ
เดินหน้าลุยตลาดกัญชา-กัญชง
นอกจากนี้ ด้านตลาดกัญชง-กัญชา เป็นตลาดที่น่าตื่นเต้น บริษัทได้เซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับโรงพยาบาลยันฮี เพื่อพัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรผสมสารสกัดจากกัญชง กัญชา ซึ่งทางโรงพยาบาลยันฮี มีศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาอยู่แล้ว ถือเป็นการเดินหน้าที่สำคัญ
"ตอนนี้บริษัท และโรงพยาบาลยันฮีอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สามารถใช้สาร CBD ในเครื่องดื่มและเครื่องใช้สำหรับบุคคลได้ ถ้าได้ใบอนุญาตก็พร้อมออกผลิตภัณฑ์ทันที" นางพรธิดา กล่าว
TKN ยอมรับหั่นเป้ายอดขายปีนี้เหลือ 4.1-4.3 พันล้านบาท
นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดยอดขายปีนี้ลงมาอยู่ที่ 4,100-4,300 ล้านบาท จากเดิมคาด 5,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่คาดว่าหากภาครัฐเร่งการกระจายวัคซีน เพื่อเป็นแรงสนับหนุนให้สถานการณ์เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กำลังซื้อฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้
โดยช่วงที่เหลือของปี บริษัทเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชานมภายใต้แบรนด์ “จัสท์ ดริ้งค์” อีก 2-3 SKUs เบื้องต้นคาดว่าสร้างยอดขายได้เพิ่มราย 2 ล้านขวดต่อเดือน หรือคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 300-400 ล้านบาทในปีนี้
นอกจากนี้ ยังวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมสาหร่ายใหม่ (NPD) ประมาณ 2-3 รายการ (SKUs) และจะมีการร่วมพัฒนากับพันธมิตรรายใหญ่ หรือผลิตภัณฑ์โคแบรนด์ (Co-Brand) อีก 1 SKUs
อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการรักษาระดับต้นทุนค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยในส่วนของการย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานที่โรจนะคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ตอนนี้ที่โรงงานนพวงศ์ เหลือเพียงไลน์ผลิตสาหร่ายทอดเท่านั้น
ประเมินกำไรขั้นต้นปีนี้อยู่เหนือ 27-28%
เขากล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 1/64 บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมเฉลี่ยอยู่ที่ราว 40% ขณะเดียวกัน บริษัทยังเข้าไปเจรจาต่อรองราคากับทาง supplier วัตถุดิบสาหร่ายที่เกาหลีอย่างต่อเนื่องคาดว่า ต้นทุนสาหร่ายล็อตใหม่จะทรงตัวใกล้เคียง หรืออาจลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนปี 62 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุด จากปัจจุบัน วัตถุดิบสาหร่ายยังคงเพียงพอรองรับในการผลิตไปจนถึงสิ้นปีนี้ และวัตถุดิบล็อตใหม่จะนำเข้ามาช่วงปลายไตรมาส 4/64 ทำให้บริษัทมองว่าปีนี้อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่เหนือระดับ 27-28% จากไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 24.33%
สำหรับตลาดต่างประเทศนั้นมองว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะเริ่มมีการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/64 นี้เป็นต้นไป โดยปัจจุบันบริษัทยังคงมีการวางกลยุทธ์ร่วมกับพันธมิตรในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในช่วงไตรมาส 3-4/64 จะกลับมาทำการตลาดในประเทศจีนได้มากขึ้น
"ปัญหาสินค้าก๊อบปี้ในตลาดจีนนั้น มองว่าไม่ส่งผลกระทบเพราะบริษัทยังคงครองสัดส่วนมาร์เกตแชร์อยู่ที่มากกว่า 10% ของตลาดสาหร่ายกินเล่น ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสนใจในขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ มากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา" นายอิทธิพัทธ์ กล่าว
ขณะที่ความคืบหน้าในการทำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกัญชงนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งบริษัทมีความถนัดปลายน้ำ คือ การทำการตลาด และการจัดจำหน่าย ในขณะที่ต้นน้ำ คือ ไร่ที่ปลูกกัญชา กลางน้ำ คือ โรงสกัด