xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ยึดอำนาจ เดิมพันลุยโควิด !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจ รพ.สนาม
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดจะเป็นการเรียกว่า “ยึดอำนาจ” หรือการ “กระชับอำนาจ” ก็แล้วแต่จะให้คำนิยามความหมายกันไป แต่เอาเป็นว่าด้วยความเห็นชอบ (บีบ) จากคณะรัฐมนตรี ในการโอนอำนาจบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเดิมที่เคยสั่งผ่านรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ต่อไปนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการได้โดยตรงได้ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีจำนวน 31 ฉบับ ความหมายก็คือ นายกฯสั่งการได้โดยตรงเลยไม่ต้องผ่านใครอีกแล้ว

ภายใต้กฎหมายทั้ง 31 ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558  2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510  3. พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 4. พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456  5. พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497  6. พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560  7. พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 8. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562  9. พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 10. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

11. พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 12. พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 13. พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 14. พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 15. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 16. พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 17. พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 18. พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 19. พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533  20. พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522

21. พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 22. พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  23. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  24. พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544  25. พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542  26. พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509  27. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 28. พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559  29. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  30. พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 และ 31. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

แน่นอนว่าหากพิจารณาจากสายงานแล้ว ถือว่ามีผลกระทบหลายกระทรวง ทั้งสาธารณสุข มหาดไทย เกษตรฯ แรงงาน ดิจิทัล คมนาคม รวมไปถึงกลาโหม แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกใหม่นี้ ย่อมต้องกระทบกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลัก และแม้ว่าการสั่งการโดยตรงของนายกรัฐมนตรีภายใต้กฎหมาย 31 ฉบับดังกล่าว จะถือว่าเป็นการ “กระชับอำนาจ” อีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ได้ “รวบอำนาจ” ภายใต้การใช้บังคับ พระราชกำหนดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ ศบค. ดังนั้น คราวนี้ก็เหมือนกับการ “กระชับ” ให้เข้มขึ้นมาอีก ด้วยการ “สั่งการโดยตรง” ในสถานการณ์ที่เกิดการระบาด “หนัก” ในรอบใหม่นี้

ขณะเดียวกัน ก็มีการย้ำให้เห็นว่าเป็นการ “ยึดอำนาจชั่วคราว” นั่นคือ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น เนื่องจากหวังว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลายภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากนั้นค่อยมาว่ากัน เพราะหากยังไม่ดีขึ้นก็อาจลากยาวต่อไป หรือเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าเดิมอีกก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี นาทีนี้หากมองในมุมของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับการ “ยึดอำนาจ” หรือการ “กระชับ” อำนาจมันก็เหมือนกับการ “เดิมพัน” อีกครั้ง เพราะหากยังไม่สามารถบริหารสถานการณ์ให้คลี่คลายลงไปได้ หรือไม่อาจตอบสนองความต้องการและอารมณ์ของชาวบ้านได้ดีกว่าเดิมมันก็ถือว่า “เสี่ยง” เหมือนกัน

แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็ถือว่า ไม่ได้รับการ “ตอบสนอง” ที่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังออกไปในทาง “หย่อนยาน” เป็นลักษณะการเมือง มีลักษณะผ่อนคลายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการระบาดในรอบแรก ที่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง ศบค.ขึ้นมา ดังนั้นเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบที่ 3 จึงต้องมีการเพิ่มความเข้มมากกว่าเดิม

แม้ว่าคราวนี้หากสำรวจจากปฏิกิริยาเชิงลึกในใจของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็คงไม่ค่อยพอใจนัก แต่ในเมื่อสถานการณ์ที่ยังวิกฤตอย่างที่เห็น มันก็เหมือนกับต้อง “กล้ำกลืน” ไปก่อน เพราะหากโวยวายก็มีแต่เข้าตัว มีแต่ผลลบแน่นอน

ดังนั้น สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การรวบอำนาจเข้ามาบริหารสั่งการโดยตรงในครั้งนี้ อีกด้านหนึ่งถือว่า มี “เดิมพัน” เพราะหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทุกอย่างก็จะพุ่งเข้าใส่ตัวเขาคนเดียว

หากผ่านก็ถือว่ารอดไปด้วยกัน แต่ถ้าออกมาในทางตรงกันข้ามก็ตายหมู่แน่นอน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น