xs
xsm
sm
md
lg

ครม.โอนอำนาจ “บิ๊กตู่” 31 พ.ร.บ.แก้โควิด จ่อคุยเอกชนจัดหาวัคซีนเพิ่ม เร่งนำผู้ป่วยรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เตรียมหารือภาคเอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่ม สั่งเร่งนำผู้ป่วยเข้าถึงการรับบริการรักษาพยาบาล ด้าน ครม. โอนอำนาจให้ “ประยุทธ์” เป็นการชั่วคราวใน 31 พ.ร.บ. เพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (27 เม.ย.) เวลา 12.30 น. ณ โถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ณ ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีระบบการรับรองผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีการคัดกรองการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 ระดับสีด้วยกัน คือ ผู้ป่วยสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย จะถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ผู้ป่วยสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลทั่วไปที่จำเป็นต้องจัดหาเตียงรักษาพยาบาลให้รองรับได้ และผู้ป่วยสีแดง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะต้องถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางโดยเร็วที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณการระบบข้อมูลเพื่อบริการทางการแพทย์ผ่านสายด่วนต่างๆ ร่วมกับอาสาสมัครที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่รับสายเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด และจะมีการจัดเตรียมเพิ่มจำนวนสถานที่คัดกรองให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ มีจำนวน 15 ราย ทำให้มีความกังวลจากประชาชนถึงการรักษาพยาบาลที่ล่าช้านั้น กำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาดำเนินการเร่งนำส่งผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 1,400 ราย ที่ยังตกค้างเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว และได้มีการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว พร้อมขอความร่วมมือจากสถานที่ตรวจคัดกรองจากโรงพยาบาลภาคเอกชนให้รายงาน แจ้งข้อมูล ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้สามารถดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยติดเชื้อระดับสีเขียวเข้าสู่โรงพยาบาลสนามได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังได้มีการเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนรถพยาบาลหรือรถนำส่งผู้ป่วยติดเชื้อไม่เพียงพอ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและกระทรวงกลาโหม และหากขาดแคลนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกระทรวงกลาโหมได้จัดเตรียมเหล่าทหารเสนารักษ์เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้เดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคธุรกิจ เอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือประสานความร่วมมือติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ ซึ่งในการทำงานร่วมกันนั้นจะมีรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบหากมีผลกระทบข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจแต่ปัจจุบันวัคซีนเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของทุกภูมิภาค จึงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศหารือและขอความร่วมมือต่อรัฐบาลหลายประเทศเพื่อให้มีการนำเข้า-ส่งออกวัคซีนได้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วกว่า 2 แสนคน และมีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ล้านโดส และจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุดตามจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ เมื่อได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ก็จะดำเนินการกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลเอกชนให้ช่วยดำเนินการฉีดเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าในการจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน ภายในปี 2564 นี้ โดยในวันที่ 28 เมษายน จะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังขอบคุณคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ร่วมกันเสียสละปฏิบัติงานเป็นด่านหน้า รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และกลุ่มจิตอาสา กลุ่มองค์กรมูลนิธิ หรือบุคคลต่างๆ ที่ร่วมแสดงน้ำใจช่วยเหลือการทำงานของภาครัฐ รวมทั้งการช่วยเหลือส่วนตัว ซึ่งจะได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาพิจารณาประกอบการบริหารด้วย ซึ่งทุกปัญหาได้นำไปสู่การพิจารณาหารือเพื่อดำเนินการแก้ไข ขณะเดียวกัน ไทยก็มีมาตรการเฉพาะและระงับการเดินทางชั่วคราวจากประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งขอส่งกำลังใจไปยังประเทศอินเดียที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน อาทิ ในวัด การจัดรายการในสตูดิโอ การโดยสารรถยนต์ที่มากกว่า 1 คน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวและผู้อื่น และอนุโลมแก่เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมย้ำว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ทำในสิ่งที่ทำได้ อันเป็นการแสดงถึงน้ำใจของคนไทย แต่จะต้องไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและผู้อื่น และขอให้ทุกคนร่วมกันเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรด่านหน้าและทีมประเทศไทยที่ร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อให้ผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

(1) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (2) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (3) พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (4) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (5) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (6) พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (7) พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 (8) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ พ.ศ. 2562 (9) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (10) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (11) พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 (12) พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 (13) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 (14) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 (15) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (16) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 (17) พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 (18) พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 (19) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (20) พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ( 21)พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 (22) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 (23) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (24) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ( 25) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (26) พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 (27) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 (28) พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 (29) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (30) พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 และ (31) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น