เมืองไทย 360 องศา
เพิ่งได้เห็นอาการไม่พอใจของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไปหมาดๆ ล่าสุด ได้เห็นวิวาทะกันระหว่าง “ตัวแทน” นั่นคือ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ออกมาตอบโต้ นายศุภชัย ใจสมุทร รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่กล่าวทำนองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวบอำนาจการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค. จำกัดบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
โดยก่อนหน้านี้ ได้เห็นร่องรอยความไม่พอใจจากพรรคประชาธิปัตย์ จากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการ “ขับเคลื่อนไทย” ไปด้วยกันในระดับจังหวัด ที่โยก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จากเดิมที่เคยดูแลในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น พะเยา เชียงราย และหนองบัวลำภู ไปดูแลจังหวัดสำคัญในภาคใต้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต
ที่น่าสังเกตก็คือ สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส เคยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครศรีฯ เขต 3 จนสามารถเอาชนะผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ลงได้ และยังมีรายงานอีกว่า เป็นผู้รับผิดชอบดูแล 14 ส.ส.ภาคใต้อย่างเต็มตัวอีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ ในคำสั่งนายกฯดังกล่าว ยังรวมไปถึงการตั้งรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐอีกหลายคน กระจายไปดูแลในจังหวัดสำคัญ อาจเป็นการรองรับสถานการณ์การเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์มองว่า มีเจตนาสกัดการทำงานในพื้นที่ เนื่องจากรัฐมนตรีของพรรคที่เคยดูแลในพื้นที่แถบนั้น ถูกย้ายไปคนละทิศละทาง เช่น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตามคำสั่งใหม่ให้ดูแลพื้นที่ จังหวัดตรัง และสตูล เป็นต้น
หรือแม้แต่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่คำสั่งใหม่ไปดูแลในจังหวัดภาคอีสาน และพัทลุง รวมไปถึง นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส.ส.สุราษฎร์ฯ ดูแลจังหวัดหนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด โดยก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคเคยมีท่าทีไม่พอใจกับคำสั่งดังกล่าวอย่างชัดเจนมาแล้ว
สำหรับ “รอยปริร้าวใหม่” ที่เริ่มเห็นอย่างชัดเจนจากการตอบโต้กันระหว่าง “แรมโบ้” นายเสกสกล อัตถาวงศ์ กับ นายศุภชัย ใจสมุทร ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งคู่ถือว่าเป็นระดับ “ตัวแทน” ที่เชื่อว่าต้องได้รับ “ไฟเขียว” จากระดับ “ขาใหญ่” อย่างแน่นอน เพราะหากสังเกตสำหรับนายศุภชัย จะมีหน้าที่ตอบโต้แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรค รวมไปถึง “ตระกูลชิดชอบ” รับรองหากมีใครแตะคนพวกนี้ จะต้องเจอกับนายศุภชัย คนนี้แน่นอน
ขณะที่ฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ หากเป็นเรื่องของรัฐบาลและบุคคลสำคัญ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ต้องเจอกับ “แรมโบ้” คนนี้เหมือนกัน
และคราวนี้เมื่อ นายศุภชัย ใจสมุทร พูดจาพาดพิงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในทำนองรวบอำนาจในการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด ผ่าน ศบค. ขณะเดียวกัน พยายามสื่อให้เห็นว่าลดบทบาทของนายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงไป โดยชี้ว่า การบริหารแบบมองภาพด้านความมั่นคง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ
ทีนี้ก็ลองมาฟังคำตอบโต้จาก ฝั่ง นายเสกสกล อัตถาวงศ์ บ้างที่ระบุว่า “ผมไม่นึกว่า พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย จะมีชุดความคิดในการทำงานที่คับแคบ และเอาแต่ได้แบบนี้ ผมเข้าใจและเห็นใจที่นายอนุทิน กำลังมีข่าว บรรดาหมอๆ ออกมาขับไล่ เลยทำให้คนในพรรคภูมิใจไทย อาจเกิดความเครียด แต่ว่าความเครียดดังกล่าวไม่ควรมาลงที่นายกฯ เพราะการอ้างว่า นายกฯ ตั้ง ศบค.ขึ้นมาแล้ว ทำให้รัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการโควิด นายศุภชัย คงจะหมายถึงนายอนุทิน ว่า ไม่มีอำนาจทำอะไรเลย จึงทำให้โควิดระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ อย่างนี้เป็นการพูดเอาดีใส่ตัว แล้วโยนความผิดให้คนอื่น มันเป็นธรรมหรือไม่
“ผมอยากให้นายศุภชัยไปย้อนถอดเทปฟังคำพูดของนายอนุทิน ในการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีนายอนุทินนั่งเป็นประธานการประชุมหัวโต๊ะ พูดไว้ว่าอย่างไร พูดถึงนายกฯ และ ศบค.ไว้อย่างไร ตรงข้ามกับที่ นายศุภชัย พูดทุกอย่าง อยากรู้ นายศุภชัย ควรไปถามนายอนุทินเอาเอง อย่าให้ผมต้องนำเทปมาเปิดให้นายศุภชัยอับอายเลย นายศุภชัย จะต้องเอาปี๊บมาคุมหัวแน่ ถ้าได้ฟังเทปนายอนุทิน พูดในการประชุมวันนั้น”
“อยากให้นายศุภชัยไปดูโครงสร้าง ศบค.ว่า รวบอำนาจจริงหรือ รัฐมนตรีไม่มีอำนาจจริงหรือ เพราะโครงสร้างนั้นคือ มีการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการเสนอแนะ และแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป เราทำแบบนี้มาตั้งแต่โควิดรอบแรก จนมารอบสอง ก็ภายใต้โครงสร้างนี้ และก็ทำมาถูกทาง”
“ผมไม่นึกว่าคนที่มีประสบการณ์ และเป็นผู้อาวุโสทางการเมืองอย่างนายศุภชัย จะคิดเอาตัวรอด กระโดดเรือหนี ในยามวิกฤตของการแก้ปัญหา ที่ผ่านมา พรรคร่วมอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ทุกครั้งก็ได้แต่พูดถึงมารยาทของการอยู่ร่วมกัน แต่ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทย กลับไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และไม่คำนึงถึงประชาชนที่กำลังเรียกร้องความร่วมมือในการทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤตให้ก้าวผ่านไปให้ได้” นั่นคือคำพูดของ “แรมโบ้” ก็ถือว่า “แรง” ใช้ได้
แม้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณความขัดแย้งจากระดับ “ขาใหญ่” ที่ชัดเจนออกมา แต่ในเมื่อเป็นระดับ “ตัวแทน” ออกมาพูดแบบนี้ มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความ “คุกรุ่น” อยู่ภายในอย่างแน่นอน แต่เอาเป็นว่าแม้นาทีนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ออกมาให้เห็นชัด แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นการ “สะสมอารมณ์ไม่พอใจ” เพิ่มขึ้น ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะอายุรัฐบาลผ่านมาพักใหญ่แล้วก็เป็นได้ !!