xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเหตุผล ทำไม "หมอสธ." ยังเซฟ "อนุทิน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลายเป็นตำบลกระสุนตกทุกครั้งเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับ "หมอหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุข ภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่มีการผุดแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง

แคมเปญที่ว่าใช้ชื่อว่า กลุ่ม หมอไม่ทน โดยดำเนินการผ่านเว็บไซต์ change.org ซึ่งเป็นหมอบางคน ที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่เป็นประจำ

ขณะที่ฝ่ายการเมืองที่เคลื่อนไหวให้ "อนุทิน" ลาออก เฮดหลักคือ พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า โดยเฉพาะ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม้เบื่อไม้เมากับ "อนุทิน" มาตั้งแต่เรื่องการจัดหาวัคซีน ที่มักมีวิวาทะและวาทกรรมตอบโต้กันอยู่เสมอ จนหลายๆ ครั้งถูกมองว่า เป็นความแค้นส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม

นี่คือ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ที่กำลังเกาะประเด็น เขย่าเก้าอี้ "อนุทิน" โดยหยิบเอาเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ในระลอกนี้มาเคลื่อนไหวเป็นประเด็นการเมืองอย่างต่อเนื่องและถี่ยิบ

แต่ท่าที "อนุทิน" หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีปฏิกิริยากับแรงกดดันข้างต้น เพราะไม่ได้เป็นครั้งแรกที่ต้องเจอกับปฏิบัติการเหล่านี้ โดยเฉพาะ อนุทิน ที่มักตกเป็นเป้านิ่งและศูนย์กลางของการระบายอารมณ์

ส่วนหนึ่งที่ "อนุทิน" ไม่ลาออกตามขบวนการเคลื่อนไหวกดดัน เพราะรู้ว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแคมเปญ "หมอไม่ทน" ไม่ได้เป็นเสียงของหมอส่วนใหญ่ และเชื่อว่า หมอส่วนใหญ่ในประเทศกว่า3หมื่นกว่าคน ยังการให้สนับสนุนตัวเองอย่างดี เนื่องจากที่ผ่านมา คือคนที่เอามารับแรงกระแทกให้ตลอด

จะเห็นว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข จนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อนุทิน ไม่เคยตำหนิหมอ หรือองคาพยพทุกๆ ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเลย และพยายามซื้อใจคนเหล่านี้มาตลอด ไม่ว่าเรื่องอะไรจะออกหน้าเรียกร้องหรือปกป้องเสมอมา จนครั้งหนึ่งเคยพูดว่า อย่าด่าบุคลากรทางการแพทย์เลย หากมีอะไรให้มาลงที่ตนเอง

ต่างจากคนอื่นๆ เมื่อเจอพายุรุมถล่ม คงเมาหมัด เข่าอ่อน เริ่มถอดใจ แต่เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นสำหรับคนชื่อ "อนุทิน" เพราะเขารับรู้ว่า "การเป็นผู้นำ ต้องทนในสิ่งที่คนอื่นทนไม่ได้" และที่สำคัญคำดูถูกดูแคลนต่างๆนานาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับเป็นสิ่งให้เขาปรับปรุงตัวเอง จนก้าวมาถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรกต้นปี 2563 "อนุทิน" คือ คนที่ไฟต์กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ให้กับอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยพยายามจะขอให้ได้มากที่สุด และหลายเดือนที่สุด เพราะเห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการจัดการโควิด-19 จนทำทั่วโลก เอ่ยปากชม

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า จะมีบุคลากรแพทย์ และโรงพยาบาลออกมาปกป้องแบบไม่กลัวทัวร์ลง

ขณะเดียวกัน ทางพรรคภูมิใจไทยพยายามอธิบายให้โลกโซเชียลมีเดียได้มองเห็น "อนุทิน" ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากมิติของโควิด-19 ว่าตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งมามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นจริงได้ในประเทศไทยอย่าง กัญชา ทั้งการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ มากกว่า 200 แห่ง ให้บริการประชาชน และการปลดล็อกกัญชา ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกร

รวมทั้งแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ไม่ขาดแคลนและเพียงพอได้อย่างยั่งยืน, บรรจุข้าราชการใหม่ 45,000 อัตรา และเพิ่มค่าตอบแทน อสม. เดือนละ 500 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ เรื่องวัคซีนที่มีการพยายามโจมตี "อนุทิน"นั้น ข้อเท็จจริงคือ "อนุทิน" เป็นคนที่มีสำคัญมากๆ คือ จัดหาวัคซีน ซิโนแวค 2 ล้านโดส และเพิ่มอีก 5ล้านโดส มาให้ประชาชน ก่อนวัคซีนแอซตร้าเซนเนกา จะมาถึงประเทศไทยในเดือนมิย.นี้

เพียงแต่ว่า ด้วยบุคลิกและการพูดตรงไปตรงมา ทำให้คนไม่พอใจอยู่บ้างเมื่อเกิดเรื่อง ทัวร์จึงมักไปลงที่ "อนุทิน" ทั้งที่คนในรัฐบาล แพทย์ พยาบาล และพรรคภูมิใจไทย รู้ดีว่า อนุทินทำอะไรไปบ้าง

อย่างที่รู้กัน กระทรวงสาธารณสุขถือเป็นกระทรวงที่การเมืองภายในของข้าราชการประจำค่อนข้างแรง หาก "อนุทิน" ไม่มีของ ไม่มีผลงาน คงอยู่ไม่ถึงมาถึงวันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น