เมืองไทย 360 องศา
หลายคนสังเกตเห็นตรงกันว่า นายทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัว ชักจะออกมาปรากฏตัวและออกความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยบ่อยครั้งมากขึ้น จนเรียกว่า “ถี่” แบบผิดปกติ ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุด ก็มีรายงานข่าวว่า เขาและน้องสาว คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีทุจริตในต่างประเทศ ก็มาโผล่ที่สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านที่เหมือนกับเดินมา “จ่อ” หลังบ้านยังไงยังงั้น เลยทีเดียว
แน่นอนว่า การปรากฏตัวของเขาที่สิงคโปร์ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับคอการเมืองที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิดคงมองออกว่าน่าจะเชื่อมโยงกันในหลายๆ เรื่องที่ประดังเข้ามาแบบประจวบเหมาะพอดี
เริ่มจากก่อนหน้านี้ ที่ นายทักษิณ ชินวัตร มักจะใช้สื่อโซเชียลฯ ในชื่อ “โทนี่” พยายามออกไอเดีย แนะแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดโควิด ต่อเนื่องมาจนถึงเรื่องการ “จัดหาวัคซีน” ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายการถล่มย่อมพุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเป้าหมายหลัก
อย่างไรก็ดี สำหรับใครที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานี้ย่อมมองออกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเจอมรสุมในหลายๆ ด้าน ประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะวิกฤตจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสาม ที่เร็วและแรงจนแทบตั้งตัวไม่ทัน เนื่องจากคราวนี้ มียอด “คนตาย” รายวันมากกว่าเดิม บางวันเกินสิบราย และที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีผู้ป่วยที่อยู่ในขั้น “อาการหนัก” หลายร้อยคน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ หากนับจนถึงวันที่ 26 เมษายน แม้ว่าตัวเลขจะลดลงมาบ้างเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นหลักสองพันคนอยู่
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้บรรดา “ขาประจำ” ทั้งหลายต่างออกมาประสานเสียง ทั้งฝ่ายค้านในและนอกสภา โจมตีเน้นในเรื่องการจัดหาวัคซีน ที่พวกเขาตอกย้ำว่า “ล่าช้า” และไม่กระจายการสั่งซื้อจากหลากหลายบริษัท แน่นอนว่าเสียงกระหน่ำของคนพวกนี้ก็คือมุ่งเน้นโจมตีว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารจัดการได้ “ห่วยแตก” ไม่ทันการณ์
ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร ก็โชว์ “ขาใหญ่” ว่า ยินดีช่วยเหลือจัดหาวัคซีนให้อีกทางหนึ่ง โดยอาสาขอไปเจรจากับ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพื่อขอซื้อวัคซีน “สปุตนิก วี” โดยพยายามจะคุยโม้ให้เห็นว่า เขามีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดี น่าจะพอช่วยเหลือได้ อะไรประมาณนั้น แม้ว่าในความเป็นจริง จะออกไปทาง “โม้” น้ำลายแตกฟองก็ตาม แต่ก็ทำให้บรรดาลูกน้องในเครือข่ายทั้งหลายในประเทศต่างขยายความกันยกใหญ่ นำไปดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันยกใหญ่
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันใน “เกมการเมือง” มันก็พอเข้าใจได้ไม่ยากว่า หากจะถล่มฝ่ายตรงข้ามให้จมดิน ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับนายทักษิณ แล้ว ย่อมต้องอาศัยจังหวะนี้แหละที่จะโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ และน่าจะถือว่าเป็น “โอกาสทอง” เสียด้วย เพราะด้วยสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดรอบใหม่ ที่หนักและแรงดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญ เวลาผ่านมา “นานกว่า 7 ปี” ที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พวกเขาต้องพ้นจากวงจรอำนาจ เรียกว่าต้อง “ระเห็จ” ไปต่างประเทศไม่ต่างจาก “สัมภเวสี” มาจนถึงบัดนี้ เหมือนกับว่า ถึงเวลาเอาคืนอะไรประมาณนั้น
เนื่องจากมั่นใจว่า นี่คือ “โอกาส” ที่ต้องจัดการ แม้ว่านาทีนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้ผลแค่ไหน รวมไปถึงผลอาจออกมาในทางตรงกันข้ามในแบบ “มุมกลับ” สะท้อนกลับมาเข้าตัวเอง และในพรรคเครือข่ายก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเสียงเรียกร้องให้ “ลุงตู่” ลาออกในสถานการณ์ตอนนี้ ยัง “ไม่ดังพอ” อย่างน้อยก็ยังไม่เห็น “ตัวเลือก” อื่นที่ “เป็นไปได้” ในเวลานี้
ดังนั้น หากพิจารณาตามสถานการณ์จริง ทำให้มองเห็นว่าการออกมาแซะ ออกมาป่วน ของนายทักษิณ ชินวัตร ในทุกรูปแบบ ทั้งออกมาถล่มด้วยตัวเอง การสนับสนุนม็อบ ไม่ว่าจะเป็นม็อบสามนิ้ว ม็อบของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เพิ่งทำกิจกรรมถี่ๆ ในช่วงเวลานี้ ก็มีการคาดกันว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเขาไม่โดยตรงก็โดยอ้อมแน่นอน แต่ทุกอย่างเท่าที่เห็นมันยัง “เฟล” แม้ไม่อยากบอกว่ายังล้มเหลว แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดแรงกระแทกไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ แบบตรงๆ มากขึ้น แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
โดยเฉพาะหากสังเกตจะเริ่มเห็น “รอยปริ” ในแบบเล็กๆ ในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ จากคำสั่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการ “ขับเคลื่อนไทย” ไปด้วยกันในระดับจังหวัด ที่โยก “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปดูแลจังหวัดสำคัญในภาคใต้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต รวมไปถึงการตั้งรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ อีกหลายคน กระจายไปดูแลในจังหวัดสำคัญ ซึ่งฝ่ายประชาธิปัตย์มองว่าอาจเป็นการรองรับสถานการณ์การเลือกตั้งในอนาคต
แน่นอนว่า ในความเป็นจริง ยังไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ก็เริ่มสะสมความไม่พอใจภายในกันเกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังคาใจกันไม่จบ แต่คำถามก็คือ โอกาส “ยุบสภา” มีมากแค่ไหน คำตอบก็คือ หากพิจารณาตามสถานการณ์แล้วในระยะอันใกล้นี้ยังมองไม่เห็น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น หากได้เห็นอาการของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทยก็เถอะ เพียงแต่ยังไม่สุกงอมเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากวกกลับมาที่ “โทนี่แม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร ก็คงได้แต่ “ฝันหวาน” ต้องการให้ยุบสภาโดยเร็วที่สุด จึงต้องออกแรงทุกทาง เพราะเชื่อว่ามีทางเลือกไม่กี่ทางเท่านั้น หากต้องการได้กลับมา นั่นคือ ผ่านการเลือกตั้ง “ล้างไพ่กันใหม่” และ สองเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้ว่ายากและยาวไกล แต่ก็มีสิทธิ์ฝันไม่ใช่หรือ !!