เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่าอาศัยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในรอบสาม ทำให้ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะผู้จัดม็อบ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ซึ่งจัดการชุมนุมเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ล่าสุด ได้เตรียมประกาศยุติการชุมนุมชั่วคราว โดยอ้างสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนนักว่าจะกลับมาชุมนุมอีกเมื่อไหร่ เพียงแต่ระบุว่าจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย
หากพิจารณาจากสถานการณ์ความเป็นจริง ก็ต้องบอกว่า “ม็อบจตุพร” ที่มากันคราวนี้ มาในแบบ “ดาวกระจาย” แต่ส่วนใหญ่เป็นการรวมพล “คนสูงวัย” ที่ล้วนเป็น “ขาประจำ” ตามเวทีม็อบที่ผ่านๆ มา ซึ่งแทบทั้งหมดล้วน “มีแต่ชื่อแต่ไม่มีมวลชน” รองรับ
หากให้โฟกัสไปที่มวลชนที่เข้าร่วมในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา แทบทั้งหมดก็ล้วนเป็น “เอฟซีของประธานตู่” มาตั้งแต่ยุค นปช. คนเสื้อแดง ผสมผสานกับพวกที่ “ไม่ชอบ หรือเกลียดลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากบางพรรคการเมืองที่มาผสมโรงกันในช่วง “ฝนตกแล้วไหลมารวมกัน” อะไรประมาณนั้น
ที่น่าสังเกตก็คือ ในการชุมนุมคราวนี้จะไม่มีพวก “กลุ่มสามนิ้ว” เข้ามาร่วมเป็นแกนหลัก โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยร่วมในขบวนการ “ล้มเจ้า” ในทีมของ “คณะก้าวไกล และก้าวหน้า” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยเป็นสปอนเซอร์หลักกับพวกแกนนำเด็กๆ ก่อนหน้านี้ หากมีก็ถือว่าน้อยมาก เช่น พวกเด็กอาชีวะ อะไรนั่น จนได้เห็นการกระทบกระทั่งกันเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องการห้ามชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้มีการประกาศไปแล้วว่า จะไม่แตะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ มุ่งในเรื่องขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปอย่างเดียวก็ได้
แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในเรื่อง “จำนวน” ของมวลชนที่เข้าร่วมตั้งแต่วันแรกของการชุมนุม ที่เริ่มดีเดย์กันมาตั้งแต่วันที่ 4-4-4 ตามรหัส ที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ คุยข่มขวัญว่า จะต้อง “มืดฟ้ามัวดิน” ซึ่งมองตามความจริง ไม่ว่าดูมุมไหนแล้วยังห่างไกลกับคำพูดมากนัก ที่เห็นก็แต่ “ท้องฟ้ามืดครื้ม” เสียมากกว่า
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาพรวมๆ โดยมองจากจำนวนมวลชน และกระแสที่เกิดขึ้นก่อนและระหว่างการชุมนุมของ “ม็อบไทยไม่ทนฯ” ดังกล่าวของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังถือว่า “ไม่ผ่าน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนคน รวมไปถึงเหตุผลในการขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น ยังถือว่ามีความ “คลุมเครือ” ยังไม่มีเหตุผลหรือมี “เงื่อนไข” รองรับที่หนักแน่นพอ
แน่นอนว่า การอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเครือข่ายที่เรียกว่า “กลุ่ม 3 ป.” มายาวนานกว่า 7 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ย่อมต้องมีเรื่องราว หรือมีบางเรื่อง หรือหลายเรื่องที่เป็นเหตุมีข้อโจมตี แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องมี “วาระเร่งด่วน” ในแบบ “ทนไม่ไหว” ต้องขับไล่กันแบบปัจจุบันทันด่วน และที่สำคัญ เงื่อนไขหลักในเรื่อง “โกง” ยังไม่ถือว่ามีความเด่นชัด
ขณะที่ผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากไม่มีอคติจนเกินไปก็ต้องบอกว่า มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ทั้งในเรื่องโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีทั้งประเภทสำเร็จ หรือใกล้เสร็จ เป็นเป็นรูปเป็นร่าง หรือแม้แต่การควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ที่ถือว่าประเทศทำได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงหลายประเทศทั่วโลก
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอนและเป็นเรื่องของรัฐสภา หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาแล้วว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ต้องทำประชามติก่อน ยกเว้นการแก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น ซึ่งเวลานี้ก็มีความเคลื่อนไหวจากบรรดาพรรคการเมือง ยื่นขอแก้ไขกันในลักษณะดังกล่าวแล้ว
อีกด้านหนึ่งกลายเป็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม “ไทยไม่ทนฯ” ที่นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในครั้งนี้ กลับสร้างความเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเจตนาแอบแฝงอะไรหรือไม่ หรือว่า “รับงาน” ใครมาหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไข และที่มาถือว่ายัง “คลุมเครือ” ดังกล่าว ซึ่งด้วยเหตุผลหลากหลายประการที่ว่านี้ มันก็เลยยังจุดกระแสไม่ขึ้นเช่นเคย
และแน่นอนว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มน่ากลัวกว่าครั้งก่อน มันก็ย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่จะสั่งยุติการชุมนุม ซึ่งในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาได้อีกหรือไม่ แต่เอาเป็นว่า นาทีนี้ “ตู่-จตุพร” ต้องเก็บฉากไปก่อน ขณะที่ “ตู่- ประยุทธ์” ยังอยู่ต่อ !!